รมว.อุตสาหกรรมเผยภาค อุตฯ ผู้ประกอบการเร่งเพิ่มประสิทธิภาพแรงงาน เทคโนโลยี รับแข่งขัน AEC พร้อมแจง รบ.ปู เร่งสร้างเสถียรภาพทางการเมือง ความชัดเจนนโยบายพัฒนา ปท. และลดปัญหาคอร์รัปชัน
ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวในงานสัมมนา เพิ่มพลังอุตสาหกรรมไทย อนาคตใหม่ AEC โดยระบุว่า ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่จะเกิดขึ้นนั้น จะรวม 10 ประเทศเข้าด้วยกัน ในปี 2558 ถือเป็นการสร้างจุดเปลี่ยนที่สำคัญที่เกิดขึ้นในภูมิภาคสำหรับประเทศไทย จะเป็นทั้งโอกาสและผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม ซึ่งถือเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ที่ผ่านมาทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้เตรียมความพร้อมในภาคอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการในด้านต่างๆ ทั้งการปรับปรุงประสิทธิภาพแรงงาน เทคโนโลยี และการใช้ประโยชน์จากการร่วมมือกันกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งเสนอแนวทางการปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมไทยเพื่อรองรับ AEC ในการขยายฐานผลิตออกไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งประเทศไทยจะต้องใช้ความได้เปรียบด้านยุทธศาสตร์ ทำเลที่ตั้ง จุดเชื่อมโยงการคมนาคมกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยการกระจายสินค้าให้ได้มากที่สุด
ส่วนการจัดอันดับประเทศไทยของทาง World Economic Forum ให้อยู่ในอันดับที่ 38 จาก 114 ประเทศทั่วโลก เนื่องจากปัญหาอุปสรรคที่ประเทศไทยจะต้องเร่งแก้ไขก่อนการเข้าร่วมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) คือปัญหาการเมืองภายในประเทศ ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมารัฐบาลพยายามวางตัวอย่างเหมาะสมเพื่อให้เสถียรภาพทางด้านการเมืองมีความมั่นคง และ 2. ด้านนโยบายการพัฒนาประเทศ ซึ่งในเรื่องนี้ได้มีการวางโครงสร้างพื้นฐานด้านการพัฒนาระบบลอจิสติกส์ และการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนมาโดยตลอด และลำดับสุดท้ายคือ ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดเป็นวาระแห่งชาติไปแล้ว โดยส่วนตัวมองว่าทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกัน ทั้งเอกชน รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องไม่จ่าย ไม่รับ ซึ่งจะทำให้การคอร์รัปชันลดลงไปได้
นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ติดตามกฎหมายการแก้ไขการลงทุนในประเทศพม่า ซึ่งเพิ่งประการออกมา เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา โดยเน้นการลงทุนกับผู้ประกอบการภายในประเทศ โดยนักลงทุนจากต่างประเทศ ที่จะเข้ามาลงทุนในสหภาพพม่านั้น จะต้องมีนักธุรกิจพม่าถือหุ้นในสัดส่วน 50:50 ซึ่งทางกระทรวง ได้สั่งการให้ทาง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เร่งปรับรูปแบบการส่งเสริมการลงทุน โดยผลักดันให้ผู้ประกอบการรัฐวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ออกไปลงทุนในกลุ่มประเทศพม่า ลาว เวียดนาม เขมร โดยจะมีผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย หน่วยส่งเสริมธุรกิจ เป็นพี่เลี้ยงในการหาผู้ร่วมทุนที่เหมาะสม รวมไปถึงสถานที่ตั้งการประกอบธุรกิจ โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุป ภายในสิ้นปี 2555 นี้