xs
xsm
sm
md
lg

วัสดุเพิ่ม ด่านศรีรัชฯ ค่าก่อสร้างพุ่ง 7 พันล้านบาท กทพ.เซ็น BECL สัมปทาน 30 ปี ค่าผ่านทาง 50 บาท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กทพ.เตรียมเซ็นสัญญา BECL 14 ก.ย.นี้ ตัดทางด่วนสายใหม่ ศรีรัช-วงแหวนฯ สัมปทาน 30 ปี เหตุต้นทุนวัสดุพุ่ง ปรับจุดขึ้นลงลดผลกระทบ ทำค่าก่อสร้างเพิ่มกว่า 7 พันล้าน ขณะที่ค่าผ่านทางเริ่มเก็บที่ 50 บาท และปรับขึ้น 15 บาททุกๆ 5 ปี ยันช่วยลดปัญหาจราจรฝั่งตะวันตกของ กทม.

นายมณเฑียร กุลธำรง รองผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 14 กันยายนนี้ กทพ.จะลงนามกับบริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BECL ในสัญญาสัมปทานโครงการก่อสร้างทางพิเศษศรีรัช-ถนนวงแหวนรอบนอก ระยะทาง 16.5 กิโลเมตร หลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างสัญญาสัมปทานการลงทุนออกแบบก่อสร้าง บริหารจัดการ ให้บริการและบำรุงรักษาโครงการตามที่คณะกรรมการมาตรา 13 ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมการงานหรือดำเนินกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 การลงทุนแบบ PPP

แหล่งข่าวจาก กทพ.กล่าวว่า โครงการมีวงเงินลงทุนรวม 32,816 ล้านบาท แบ่งเป็น วงเงินการลงทุนก่อสร้างโครงการ 24,417 ล้านบาท และวงเงินลงทุนสำหรับการบริหารจัดการ การให้บริการและการบำรุงรักษา 8,399 ล้านบาท โดยมีระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี มีระยะเวลาออกแบบก่อสร้าง 48 เดือน โดยกำหนดอัตราค่าผ่านทางปรับเพิ่มอัตราค่าผ่านทางทุก 5 ปี คือ รถยนต์ 4 ล้อ เก็บอัตรา 50 บาท ปรับขึ้นครั้งละ 15 บาท, รถยนต์ 6-10 ล้อ อัตรา 80 บาท ปรับขึ้นครั้งละ 25บาท และรถยนต์ตั้งแต่ 10 ล้อขึ้นไป อัตรา 115 บาท ปรับขึ้นครั้งละ 35 บาท

สำหรับการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ได้มีการประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนเพื่อทำการก่อสร้างโครงการแล้วตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยกำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่จะเวนคืนในท้องที่อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี และเขตทวีวัฒนา เขตตลิ่งชัน เขตบางพลัด เขตบางกอกน้อย เขตบางซื่อ และเขตจตุจักร โดย กทพ.ได้สำรวจกำหนดเขตที่ดินที่ถูกเวนคืนแล้ว 49.5% เร็วกว่าแผนงาน 12%

แหล่งข่าวจาก กทพ.กล่าวว่า การปรับเพิ่มกรอบเงินลงทุนโครงการจากเดิมที่ 17,458 ล้านบาท เป็น 24,417 ล้านบาทนั้น เนื่องจากมีการปรับจุดขึ้นลงโครงการใหม่เพื่อลดผลกระทบของประชาชน และค่าวัสดุก่อสร้างที่ปรับขึ้น ส่วนกรอบค่าเวนคืนที่ 9,564 ล้านบาท คาดว่าจะไม่มีการปรับเพิ่มแม้กรมธนารักษ์จะมีการประกาศราคาประเมินที่ดินใหม่ โดยเริ่มทยอยจ่ายค่าเวนคืนไปแล้ว 400-500 ล้านบาท

โดยโครงการก่อสร้างทางพิเศษศรีรัช-ถนนวงแหวนรอบนอก จะช่วยแบ่งเบาปริมาณจราจรระดับดิน และระบายการจราจรทางด้านทิศตะวันตก ระหว่างกรุงเทพมหานคร และจังหวัดใกล้เคียงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร แนวสายทางเริ่มต้นที่ทางพิเศษศรีรัช มีจุดเชื่อมต่อกับทางพิเศษศรีรัชบริเวณด้านเหนือของสถานีขนส่งสายเหนือ (หมอชิต 2) จากนั้นแนวสายทางจะไปทางทิศตะวันตก โดยใช้พื้นที่เขตทางรถไฟสายตะวันตก (สายใต้เดิม) ตั้งแต่บริเวณบางซื่อ และข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณสะพานพระราม 6 หลังจากนั้น แนวสายทางยังคงไปตามเขตทางรถไฟ โดยขนานไปกับถนนบรมราชชนนี จนถึงถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ด้านตะวันตก) คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการได้ในปี 2559
กำลังโหลดความคิดเห็น