xs
xsm
sm
md
lg

มายด์แชร์เผยนิสัยคนไทย 10 ปีให้หลังจากวิจัย 3D 2012

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปัทมวรรณ สถาพร ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท มายด์แชร์
มายด์แชร์เผยผลสำรวจจาก “กรุ๊ปเอ็ม/มายด์แชร์ 3D 2012” เผยให้เห็นว่ากลุ่มประชากรที่ต้องการมีสถานะทางสังคมและภาพลักษณ์ที่ดีเป็นกลุ่มที่มีการเติบโตเยอะที่สุดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และเป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดในสังคมไทย

นางปัทมวรรณ สถาพร ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท มายด์แชร์ กล่าวว่า “เราทราบกันทั่วไปว่าประชากรไทยปัจจุบันมี 64 ล้านคน เพิ่มขึ้นถึง 2 ล้านคนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และเรากำลังเข้าสู่ช่วงของการมีประชากรที่มีอายุมากกว่า 40 ปีอยู่ถึง 39%ของประเทศ และเมื่อเทียบกับเมื่อ 10 ปีที่อยู่ที่ 29% ของประชากรทั้งหมด หมายถึงการที่เราจะต้องเตรียมตัวเข้าสู่ยุคที่ประเทศกำลังจะมีประชากรสูงวัยเพิ่มมากขึ้น และทั้งนี้เราก็ทราบดีว่ากลุ่มคนทำงานใช้แรงงานมีจำนวนเท่ากับ 2 ใน 3 ของประเทศ รวมถึงขนาดจำนวนสมาชิกในแต่ละครัวเรือนก็เล็กลง แต่งงานช้า มีลูกน้อย และอัตราการหย่าร้างที่สูงขึ้นก็เป็นแนวโน้มที่เราจะเห็นมากขึ้น อย่างไรก็ตาม มายด์แชร์ไม่ได้ให้หยุดศึกษาในเชิงประชากรศาสตร์เท่านั้น แต่เรามองซับซ้อนขึ้นโดยศึกษาในเชิงพฤติกรรมทางสังคม ปัจเจกบุคคล ความเชื่อ ทัศนคติของผู้บริโภคเหล่านั้น และได้จัดกลุ่มผู้บริโภคออกเป็น 8 กลุ่มหลักด้วยกันจากเครื่องมือวิจัย 3D นี้ โดยเราจะสามารถมองเทรนด์ให้ลึกกว่าแค่สถานภาพทั่วไป”

3D 2012 แสดงสัดส่วนกลุ่มทัศนคติและพฤติกรรม 8 กลุ่ม ดังนี้
1. กลุ่มที่ต้องการมีสถานะทางสังคมและภาพลักษณ์ที่ดี (Image Conscious Status Seeker) เป็นกลุ่มที่มีการเติบโตเยอะที่สุดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และเป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดวันนี้ กลุ่มนี้มีมุมมองและทัศนคติที่ดีกับชีวิต ยอมเป็นหนี้สินเพื่อใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ เป็นกลุ่มที่มีจำนวนมากที่สุดเป็นอันดับ 1 คือ 22%
2. กลุ่มผู้เสียเปรียบและไม่กระตือรือร้น (Disadvantaged & Indifferent) มีพื้นฐานของการคิดเรื่องชีวิตที่เรื่อยๆ สบายๆ เป็นวัฒนธรรมของคนไทยที่ต่างชาติให้ความสนใจ เป็นกลุ่มที่ใหญ่ของสังคมไทยตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา และนับเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนมากที่สุดเป็นอันดับสองคือ 19% ของจำนวนประชากร
3. กลุ่มที่มีแบบแผนชีวิตเหมือนรุ่นก่อนๆ (Traditionalists) มีจำนวน 9% ค่อนข้างมีแบบแผนการใช้ชีวิต มีความมั่นใจในตัวเอง ยังเชื่อเรื่องความถูกต้อง และศาสนามีความสำคัญต่อชีวิต เป็นกลุ่มที่มีความเปลี่ยนแปลงน้อยที่สุดในรอบ 10 ปี และมีจำนวนประชากรที่ค่อนข้างคงที่ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีคนอายุเยอะมากที่สุด
4. กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีความคาดหวัง (Young Aspirers) มีจำนวน 11% เป็นกลุ่มคนอายุน้อยที่ชอบสังคม เอาใจใส่ผู้คนรอบข้าง และสนใจภาพลักษณ์ มีความมั่นใจสูงแต่ไม่ถึงกับทะเยอทะยาน มีมุมมองชีวิต และการใช้ชีวิตที่ใกล้เคียงกับเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เพื่อนมีความสำคัญต่อชีวิต สิ่งที่มีบทบาทในชีวิตมากขึ้นคือเทคโนโลยี
5. กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มองหาความมั่นคง (Young Pragmatics) มีจำนวน 10% เป็นกลุ่มที่เล็กในสังคมไทย มีความใกล้เคียงกับที่ถูกตั้งชื่อใช้เรียกกันว่า ‘GEN Y’
6. กลุ่มโดดเดี่ยวและมองโลกจริงจัง (No-nonsense loners) มีจำนวน 8% กลุ่มนี้ส่วนใหญ่ชอบอยู่บ้าน ชอบอยู่เงียบๆ และค่อนข้างจริงจังกับชีวิตและคิดเรื่องต่างๆอย่างมีเหตุและผล และมีค่านิยมทางสังคมที่เชื่อตัวเองเป็นหลัก เป็นกลุ่มที่มีตัวเลขลดน้อยลงเยอะที่สุดและเป็นกลุ่มที่เล็กที่สุดของสังคมไทย
7. กลุ่มการศึกษาสูงและมีความคิดก้าวหน้า (Educated Progressives) มีจำนวน 9% กลุ่มคนเมืองและมีการศึกษาสูง ทำงานประจำ มีการยอมรับแนวคิดใหม่ๆ เสมอ ไม่ชอบเรื่องหยุมหยิมในชีวิต มุมมองและการดำเนินชีวิตของคนเมืองที่ไม่ค่อยแตกต่างมากนักในช่วง 10 ปีที่ผ่านมายังเป็นกลุ่มที่เล็กของสังคมไทย
8. กลุ่มที่มีความเชื่อมั่นแต่มีวิถีชิวิตแบบอนุรักษนิยม (Ambitious Traditionalists) มีจำนวน 12% เป็นกลุ่มที่ให้ความสำคัญต่อภาพลักษณ์ของตน วัตถุนิยม ชอบสังคมและมีความสุขกับชีวิต ส่วนใหญ่จะอยู่นอกหัวเมือง แต่งงานและมีลูก มีรายได้ต่อครัวเรือนน้อย มีความใกล้เคียงกับกลุ่ม Traditionalists ในด้านมุมมองและประเพณี สิ่งที่ต่างคือความเชื่อมั่น และมุมมองชีวิตที่ทันสมัยกว่า และอยากที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองถ้ามีโอกาส กลุ่มที่มีความคงที่เช่นกันในช่วง 10 ปีทีผ่านมา

นางปัทมวรรณ สถาพร กล่าวสรุปว่า “ทุกองค์กรให้ความสำคัญต่อผู้บริโภคที่มีความภักดีต่อแบรนด์ และให้ความสำคัญยิ่งกว่าในการทำอย่างไรไม่ให้เขาเปลี่ยนไปใช้ยี่ห้ออื่น พัฒนาการของสินค้ามาถึงจุดที่บางครั้งสิ่งที่จะดึงดูดไม่ใช่เรื่องของฟังก์ชันแต่กลับเป็นเรื่องของความรู้สึก แบรนด์ที่แข็งและโดดเด่นจากคู่แข่งคือแบรนด์ที่ทำให้ผู้บริโภครู้สึกได้ถึงความแตกต่างจากแบรนด์อื่นๆ ได้อย่างชัดเจน และเมื่อรวมทั้ง 3 มิติเข้าด้วยกัน 3D จึงนำเราเข้าสู่ยุคใหม่ของการวางแผนการสื่อสาร”

เกี่ยวกับ 3D 2012
เครื่องมือนี้เป็นการวิจัยเชิงปริมาณ ให้ข้อมูลของผู้บริโภค 3 มิติ (Three Dimensional Research) โดยทำการสำรวจกลุ่มตัวอย่างที่เป็นตัวแทนของประชากรของประเทศไทยกว่า 2,400 คน อายุระหว่าง 14-65 ปี โดยเป็นการทำสำรวจผ่านการสัมภาษณ์ และการทำแบบสอบถามภายใต้การควบคุมของทีเอ็นเอส รีเสิร์ช อินเตอร์เนชั่นแนล โดยใช้ซอฟต์แวร์ของ Potentiate ประเทศออสเตรเลีย ทั้งนี้ เครื่องมือนี้สามารถดึงข้อมูลเชิงลึกในการทำความเข้าใจถึงทัศนคติ โดยฐานข้อมูลความคิดเห็นเชิงจิตวิทยากว่า 180 คำถาม และมีข้อมูลถึง 34 หมวดสินค้ากว่า 800 แบรนด์
1. มิติแรกของ 3D วัดผลในเชิงความสัมพันธ์ของผู้บริโภคกับตราสินค้า (Brand Relationship) การจำแนกหมวดสินค้าจะครอบคลุมจากสินค้าอุปโภคบริโภคไปถึงบริการทางการเงิน ความภักดีในตราสินค้าก็จะแตกต่างกันสำหรับกลุ่มที่ให้ความสำคัญในการเลือกตราผลิตภัณฑ์ และกลุ่มที่ไม่ค่อยให้ความใส่ใจในการเลือกผลิตภัณฑ์
2. มิติที่สองของ 3D ให้ข้อมูลเชิงลึกในการทำความเข้าใจถึงทัศนคติและพฤติกรรมทางสังคมของผู้บริโภค (Social Behavior) ด้วยฐานข้อมูลความคิดเห็นเชิงจิตวิทยากว่า 200 ตัวอย่าง เครื่องมือวิจัย 3D ได้จำแนกกลุ่มทัศนคติและพฤติกกรรมออกเป็น 8 กลุ่มที่แตกต่างกัน
3. มิติที่สามของ 3D คือ การศึกษาพฤติกรรมการรับสื่อของกลุ่มตัวอย่าง (Media Consumption) นอกเหนือจากสื่อที่ได้รับความนิยมแล้ว 3D ยังวิเคราะห์จุดเชื่อมโยงในการสื่อสารระหว่างที่ผู้บริโภคกับสื่อ ตั้งแต่สื่อหลักไปจนถึงการพูดกันปากต่อปาก การแจกผลิตภัณฑ์ตัวอย่าง แผ่นพับใบปลิว ข่าวประชาสัมพันธ์ พนักงานขาย และช่องการสื่อสารใหม่ๆ เช่น SMS
กำลังโหลดความคิดเห็น