xs
xsm
sm
md
lg

คลังตั้ง “ฟินันซ่า” ทำงานทะเบียน กอช.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


บลจ.ฟินันซ่าคว้าระบบงานทะเบียนสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติจากกระทรวงการคลัง ในรูปแบบ Web Base Application ทำธุรกรรมได้ตลอด 24 ชั่วโมง

นายธีรพันธุ์ จิตตาลาน กรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ฟินันซ่า จำกัด เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้ไว้วางใจแต่งตั้งให้ บลจ.ฟินันซ่าจัดทำระบบงานทะเบียนสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ และให้บริการเป็นนายทะเบียนสมาชิกกองทุน เนื่องจาก บลจ.ฟินันซ่ามีประสบการณ์ทั้งในด้านงานทะเบียนสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนรวม โดยได้ให้บริการจัดทำทะเบียนสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้บริษัทต่างๆ เป็นจำนวนถึง 314 บริษัท ด้วยความโดดเด่นและเป็นผู้นำในการพัฒนาระบบให้งานทะเบียนสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจาก employee’s choice ไปถึงขั้นที่ปัจจุบันสามารถตอบสนองความต้องการของสมาชิกได้อย่างไร้ขีดจำกัด จึงทำให้ทางบริษัทได้รับความไว้วางใจจากกระทรวงการคลังในการจัดทำระบบงานทะเบียนสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ

“บลจ.ฟินันซ่า จำกัด ได้จัดทำระบบทะเบียน และมีประสบการณ์ด้านงานทะเบียนมายาวนานกว่า 40 ปี มีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ บวกกับเทคโนโลยีอันทันสมัย เรามีประสบการณ์ด้านระบบทะเบียนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมากว่า 20 ปี โดยรูปแบบระบบทะเบียนสมาชิก กอช.จะทำงานอยู่บน Web Base Application ดังนั้นจึงสามารถใช้บริการต่างๆ รวมถึงทำธุรกรรมได้ตลอด 24 ชั่วโมง สามารถรองรับการปฏิบัติงานของหน่วยรับสมัครซึ่งเบื้องต้นกำหนดให้เป็นธนาคาร 3 แห่ง คือ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และธนาคารกรุงไทย ซึ่งมีสาขารวมกันประมาณกว่า 3,000 แห่งทั่วประเทศ ระบบงานหลัก ได้แก่ การรับสมัครสมาชิก นำส่งเงินสะสม จ่ายเงินแก่สมาชิก และการให้บริการต่างๆ แก่สมาชิก เช่น ระบบ e-service สำหรับสมาชิก ทั้งหมดนี้นับเป็นการผสมผสานระหว่างการออมกับการจัดการที่มีประสิทธิภาพอย่างเต็มรูปแบบ เพื่ออนาคตที่ดีและสภาพความเป็นอยู่ที่ดีของสังคม” นายธีรพันธุ์กล่าว

ทั้งนี้ กองทุนการออมแห่งชาติจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. 2554 เพื่อส่งเสริมให้บุคคลที่ไม่ได้อยู่ภายใต้กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนประกันสังคม หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้มีโอกาสออมเพื่อการเกษียณ โดยทางรัฐบาลจะร่วมสมทบด้วยอีกส่วนหนึ่ง โดยมีกลุ่มเป้าหมายที่จะเข้าเป็นสมาชิกได้สูงถึง 35 ล้านคน

โดยตั้งแต่ปี 2552 โครงสร้างทางประชากรของประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าจะมีประชากรอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป 11% และในปี 2563 จะเพิ่มขึ้นถึง 15% และสังคมของกลุ่มคนวัยทำงานจะต้องพบกับความเสี่ยงหลากหลาย เช่น อายุสั้น จากไปก่อนวัยอันควร บางรายอายุยืนแต่หลังเกษียณกลับไม่มีรายได้ และท้ายสุดอาจทุพพลภาพ หรืออาจเจ็บป่วยในระยะยาว และยังมีประชากรอีกเป็นจำนวนมากอยู่นอกระบบประกันสังคม กรณีชราภาพ ซึ่งถือว่าขาดหลักประกันในส่วนนี้ เพราะฉะนั้นรัฐบาลจึงมองเห็นความสำคัญจุดนี้ จึงได้ออก พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ หรือ “กอช.” ขึ้นภายใต้สโลแกน “เกษียณสุขใจ มีบำนาญใช้กับ กอช.” โดยมุ่งหวังให้ประชาชนเข้าถึงการออมเงินที่เหมาะสมและสร้างหลักประกันทางสังคม กองทุนการออมแห่งชาติเป็นกองทุนเพื่อการเกษียณอายุภาคสมัครใจ สำหรับผู้ที่ยังไม่มีหลักประกันทางสังคมเพื่อการชราภาพ เพื่อให้มีรายได้หลังเกษียณในรูปบำนาญ

สำหรับหลักเกณฑ์การออมเงินกับ “กอช.” นั้น ผู้มีสิทธิจะต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทย อายุ 15-60 ปี ไม่เป็นสมาชิกกองทุนอื่นใดที่ได้รับเงินสมทบจากรัฐหรือนายจ้าง และไม่ได้อยู่ในระบบบำเหน็จบำนาญภาครัฐหรือเอกชน โดยสมาชิกส่งเงินสะสมเงินเข้ากองทุนไม่ต่ำกว่าครั้งละ 50 บาท แต่ไม่เกิน 13,200 บาทต่อปี และรัฐบาลจะให้เงินสมทบตามช่วงอายุของสมาชิกและเป็นอัตราส่วนกับจำนวนเงินที่สมาชิกสะสมเข้ากองทุนตั้งแต่ร้อยละ 50 ถึงร้อยละ 100 โดยไม่เกินเงินสมทบสูงสุดตามที่กฎหมายกำหนด สมาชิกจะได้รับบำนาญรายเดือนจนตลอดชีวิตเมื่อสมาชิกอายุครบ 60 ปีเป็นต้นไป และมีเงินออมที่มากพอ ซึ่งสมาชิกที่ออมมากก็จะได้รับบำนาญมากตามไปด้วย และในกรณีที่สมาชิกทุพพลภาพก่อนอายุครบ 60 ปี จะมีสิทธินำเงินออมของตนออกมาใช้ก่อนได้ นอกจากนี้ หากสมาชิกมีความจำเป็นต้องลาออกจากกองทุนก่อนอายุ 60 ปี จะได้รับคืนเฉพาะเงินที่ได้ออมไว้โดยไม่รวมเงินสมทบ อย่างไรก็ดี สมาชิกจะกลับเข้ามาเป็นสมาชิกของกองทุนได้อีกตามความสมัครใจ และหากสมาชิกเสียชีวิต กองทุนจะจ่ายเงินแก่ผู้ที่สมาชิกได้แจ้งชื่อไว้หรือให้แก่ทายาทของสมาชิก

ขณะที่สิทธิประโยชน์ที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ รัฐบาลค้ำประกันผลตอบแทนให้สมาชิกได้รับจากเงินออมไม่น้อยกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำประเภท 12 เดือนโดยเฉลี่ยของธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 5 แห่ง นอกจากนี้ ผู้ที่ได้รับบำนาญจาก “กอช.” จะยังมีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุอีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น