นักวิชาการ ชี้ พ.ร.บ.การศึกษาตลอดชีวิต คือคำตอบของการช่วยเหลือดูแล นร.ที่หลุดออกนอกระบบการศึกษา แนะเร่งผลักดันให้เกิดผล พร้อมเผยข้อมูลโครงสร้างประชากรประเทศไทย ระบุ หญิงไทยการศึกษาสูงขึ้น อายุยืนขึ้นเฉลี่ยที่ 80 ปี และแต่งงานช้า ขณะที่ชายไทย อายุเฉลี่ยที่ 65 ปี เพราะกินเหล้า สูบบุหรี่ ระบุขณะที่ผลวิจัยประชากรของยูเอ็น สะท้อนชายไทยรักทำงานสบาย และทำงานขับรถตุ๊กตุ๊ก แต่หญิงมุ่งเรียนหมอ วิศวะ
รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า จากการร่วมประชุมร่างแผนพัฒนาประชากรในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 พบข้อห่วงใยต่อโครงสร้างประชากรของประเทศไทยที่กระทบต่อระบบการจัดการศึกษาของชาติ โดยจากข้อมูลของสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่า ปัจจุบันอัตราการเกิดของประชากร ลดลงเหลือ 1.6 ส่วนผู้สูงอายุมีอัตราเพิ่มขึ้นจาก 8% เป็นกว่า 20% ขณะที่อายุเฉลี่ยชายไทย อยู่ที่ 65 ปี เพราะกินเหล้า สูบบุหรี่ ส่วนหญิงไทยมีอายุเฉลีย อยู่ที่ 80 ปี เพราะรักษาสุขภาพ นอกจากนี้ น่าเป็นห่วงด้วยว่า อัตราเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาเพิ่มมากขึ้น และส่วนใหญ่จะเป็นเด็กชาย ซึ่งพบว่าเมื่อถึงชั้นมัธยมเด็กนักเรียนชายจะเหลือเพียง 35-40% เท่านั้น ทำให้เกิดปัญหาเด็กนักเรียนชายดื่มเหล้า สูบบุหรี่ มีแนวโน้มก่อปัญหาอาชญากรรม หรือสร้างความรุนแรงมากขึ้น ขณะที่เด็กนักเรียนหญิงจะมีการศึกษาสูงขึ้น ส่งผลให้หญิงไทยมีการศึกษาสูง นิยมแต่งงานกับผู้ที่มีการศึกษาสูงกว่า เมื่อชายไทยมีอัตราการศึกษาน้อยกว่า จึงมีแนวโน้มที่หญิงไทยจะเป็นโสดมากขึ้น เพราะสามารถพึ่งตนเองได้มากขึ้น หรือหากมีครอบครัวก็จะมีบุตรน้อย
นอกจากนี้ ยังพบด้วยว่า ชายไทยเมื่อมีการศึกษาน้อยลง ความสามารถในการสร้างงาน หรือเพิ่มรายได้ก็จะต่ำ ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวสถาบันวิจัยประชากรศาสตร์แห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น คาดการณ์กรณีประเทศไทย ว่า ขณะนี้ผู้ควบคุมกำลังการผลิตของประเทศมากกว่า 50% จะเป็นฝ่ายหญิง โดยทัศนคติต่อการทำงานนั้น พบว่า ฝ่ายหญิงจะมุ่งมั่นศึกษาเล่าเรียนเพื่อประกอบอาชีพแพทย์ วิศวกร พยาบาล ขณะที่ทัศนคติของชายจะมุ่งทำงานที่สบาย หรือ ขับรถตุ๊กตุ๊ก ซึ่งผู้วิจัยจากยูเอ็น ระบุว่า กรณีประเทศไทยเป็นสถานการณ์ที่ค่อนข้างประหลาด
รศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของผลกระทบกับโครงสร้างระบบการศึกษานั้น มีข้อมูลว่า ปัจจุบันมีเด็กหลุดจากระบบการศึกษา รวมทั้งมีเด็กด้อยโอกาส 5 ล้านคน ได้แก่ เด็กในสถานพินิจ แรงงานเด็ก แม่วัยรุ่น เด็กด้อยโอกาสและเด็กยากจน ในขณะที่ระบบการศึกษาไม่สามารถรั้งตัวเด็กไว้ในระบบ ทั้งยังผลักเด็กออกซึ่งเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายเมื่อเด็กหลุดนอกระบบจะมีแนวโน้มสร้างปัญหาสังคมมากขึ้น ทางออกของเรื่องนี้ คือ การปรับระบบการศึกษาในระบบให้มีความยืดหยุ่น ดึงเด็ก และผู้สูงอายุเรียนรู้ร่วมกันในลักษณะการเล่าถ่ายทอดประสบการณ์ เพื่อส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนมีทัศนคติที่ดีต่อผู้สูงอายุและชุมชน ขณะเดียวกันก็ต้องเร่งคลอด พ.ร.บ.การศึกษาตลอดชีวิต เพื่อจัดการศึกษาให้กับเด็กที่หลุดนอกระบบไปจนถึงผู้สูงอายุ เพราะเป็นกฎหมายที่ยืดหยุ่นรองรับการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของสังคมไทย อย่างไรก็ตาม ตนคิดว่า พ.ร.บ.การศึกษาตลอดชีวิต จะเป็นคำตอบของการดูแลเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษา ดังนั้น ถึงเวลาที่ผู้เกี่ยวข้องต้องเร่งผลักดันกฎหมายฉบับนี้ออกมา