xs
xsm
sm
md
lg

TSTH เผย 2 กลยุทธ์พลิกฟื้นกำไร หาพันธมิตรซื้อ MBF-เพิ่มกำลังผลิต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทาทาสตีลฯ วางกลยุทธ์ 2 แนวทางพลิกฟื้นกำไรฯ โดยหาพันธมิตรเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตโรงเหล็ก เอ็น.ที.เอส.จากที่ผลิตอยู่ 5 แสนตัน/ปีหรือ 60% เป็น 90% คาดได้ข้อสรุป 6เดือนนี้ และเล็งขายโรงถลุงเหล็กเตาหลอม (MBF) ภายใน 1 ปีเพื่อลดภาระค่าเสื่อมราคาปีละ 230 ล้านบาท

นายปิยุช กุปต้า กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทาทาสตีล (ประเทศไทย) จำกัด(มหาชน) (TSTH) เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้วาง 2 กลยุทธ์ที่จะพลิกฟื้นบริษัทฯ ให้กลับมามีกำไรสุทธิอีกครั้งหลังขาดทุนต่อเนื่อง 3 ปี โดยจะหาพันธมิตรทางธุรกิจที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเพื่อช่วยเพิ่มกำลังการผลิตโรงงานเหล็ก เอ็น.ที.เอส.สตีลกรุ๊ปจากปัจจุบันที่ใช้กำลังการผลิตอยู่ 5 แสนตัน/ปี หรือคิดเป็น 60% ของกำลังการผลิตเป็น 90% ของกำลังการผลิต และการย้ายโรงเตาถลุงเหล็กหลอมเหลว (MBF) ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกับ เอ็น.ที.เอส.สตีลกรุ๊ป โดยขาย MBF ให้ผู้ที่สนใจ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจา

การตัดสินใจขายและย้ายโรงเตาถลุงเหล็กหลอมเหลวนั้นเพื่อต้องการลดภาระบริษัทฯ ที่ต้องแบกค่าเสื่อมราคาปีละ 230 ล้านบาท ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้บริษัทฯ ประสบปัญหาการขาดทุน เนื่องจากบริษัทฯ ได้หยุดเดินเครื่องโรงเตาถลุงเหล็กหลอมเหลวมาตั้งแต่เดือน ก.ค. 2554 หลังจากเปิดเดินเครื่องจักรได้เพียง 1 ปี 9 เดือน แต่ประสบปัญหาราคาวัตถุดิบผันผวนสวนทางราคาผลิตภัณฑ์เหล็ก ซึ่งการขายโรงเตาถลุงเหล็กหลอมเหลวแล้วย้ายไปติดตั้งโรงงานใหม่จำเป็นต้องอยู่ใกล้แหล่งวัตถุดิบ เช่น แอฟริกาใต้ และอินเดีย ไม่จำเป็นต้องขายให้กลุ่มทาทาสตีล ซึ่งขณะนี้บริษัทฯ อยู่ระหว่างการเจรจา คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 1 ปี

สำหรับการหาพันธมิตรเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตโรงเหล็ก เอ็น.ที.เอส.ที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีมากกว่าด้านแหล่งเงิน เนื่องจากโรงงานดังกล่าวมีเครื่องจักรที่สามารถผลิตเหล็กได้หลากหลายทั้งเหล็กลวดคาร์บอนสูง เหล็กลวดคาร์บอนต่ำ เหล็กเส้น ฯลฯ โดยบริษัทฯ มุ่งหวังที่จะให้โรงงานนี้ผลิตเหล็กเกรดพิเศษ ซึ่งขณะนี้ได้มีการเจรจากับผู้ที่สนใจหลายราย ทั้งญี่ปุ่น เกาหลี และอินเดีย ซึ่งเดิมเป็นผู้ส่งออกเหล็กมาไทยอยู่แล้ว รวมทั้งบริษัทเทรดเดอร์ก็สนใจด้วยเช่นกัน คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 6 เดือนนี้

สาเหตุที่ไม่ดึงทาทาสตีลกรุ๊ป ซึ่งเป็นบริษัทแม่ที่อินเดียเข้ามานั้น เนื่องจากบริษัทแม่มีความเชี่ยวชาญด้านเหล็กแผ่น แต่ไม่เชี่ยวชาญด้านเหล็กลวด รวมถึงเหล็กเกรดพิเศษที่บริษัทฯ ผลิตอยู่

ทั้งนี้ บริษัทฯ ลงทุนโรงเตาถลุงเหล็กหลอมเหลวและโรงไฟฟ้าใช้เงิน 3.8 พันล้านบาท ซึ่งทันทีที่ขายโรงเตาถลุงเหล็กฯ ได้ก็จะหยุดบันทึกค่าเสื่อมราคาได้ทันที หรือหาพันธมิตรเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตโรงเหล็ก เอ็น.ที.เอสให้เป็น 90% ของกำลังผลิตได้ ไม่ว่าแนวทางใดสำเร็จก่อนก็จะทำให้บริษัทฯ มีกำไรสุทธิได้ทันที

นายกุปต้ากล่าวถึงผลการดำเนินงานไตรมาส 2 (ก.ค.-ก.ย. 2555) ว่า การผลิตจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 20% จากไตรมาส 1 ที่ผลิตอยู่ 2.51 แสนตัน และมีปริมาณการขายเพิ่มขึ้น 15% จากไตรมาส 1 ที่ขายอยู่ 2.58 แสนตัน โดยจะรักษากำไรที่เป็นตัวเงิน (Cash Profit) และกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อม (EBITDA) เป็นบวกต่อเนื่องจากไตรมาสแรกปีนี้

ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ทำหนังสือแจ้งกระทรวงพาณิชย์เพื่อออกมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดเหล็กลวดโดยผสมโครเมียมและโบรอนเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีนำเข้า 5% ทำให้เหล็กนำเข้า 5 เดือนแรกปีนี้เพิ่มขึ้น 13%
///////////////////
กำลังโหลดความคิดเห็น