“พลังงาน” จับมือค่ายรถเร่งส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน พร้อมเดินหน้าติดตั้งอุปกรณ์ “คอนเวอร์ชันคิต” ทั้งในจักรยานยนต์-รถยนต์ทุกชนิด หวังกระตุ้นยอดการใช้ “แก๊สโซฮอล์” เพิ่มสูงขึ้น ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาและทดสอบผลกระทบเครื่องยนต์ ยอมรับผู้ใช้ยังเข้าใจคลาดเคลื่อน
นายไกรฤทธิ์ นิลคูหา อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน เปิดเผยแผนกระตุ้นการใช้พลังงานทดแทน โดยระบุว่าในปีนี้ พพ.ได้ทำโครงการปรับปรุงเครื่องยนต์ในจักรยานยนต์ให้สามารถใช้เอทานอลเป็นเชื้อเพลิงได้มากขึ้น เพราะมีหลายรุ่นสามารถใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ได้และไม่มีผลต่อเครื่องยนต์ แต่ยอมรับว่ายังมีประชาชนจำนวนมากมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนและมีจักรยานยนต์บางรุ่นไม่สามารถใช้แก๊สโซฮอล์ได้จริง จึงจำเป็นต้องให้ความรู้ควบคู่กับการประชาสัมพันธ์ให้ทั่วถึงมากขึ้น
ส่วนจักรยานยนต์ระบบหัวฉีดหลายรุ่นสามารถใช้แก๊สโซฮอล์ อี85 ได้ด้วย เพื่อเป็นการกระตุ้นการใช้ อี85 ในรถจักรยานยนต์ พพ.จึงจับมือบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด นำร่องปรับปรุงเครื่องยนต์ให้ใช้ อี85 ได้ เน้นกลุ่มรถจักรยานยนต์ที่ใช้เส้นทางระยะไกลเบื้องต้นประมาณ 200-300 คัน ด้วยการปรับแต่งเครื่องยนต์ในการติดตั้งอุปกรณ์คอนเวอร์ชันคิต
ขณะนี้ยืนยันว่ามีค่ายรถยนต์ผลิตได้ 5-6 รายในประเทศไทย ซึ่งในส่วนจักรยานยนต์ทำการทดสอบระบบหัวฉีดเสร็จแล้วสามารถติดตั้งอุปกรณ์คอนเวอร์ชันคิตในราคาประมาณ 3,000-5,000 บาทต่อคัน เป็นราคาที่ค่อนข้างสูง แต่ในระยะยาวถือว่าคุ้มค่าต่อการลงทุน พพ.กำลังเร่งเดินหน้าสนับสนุนให้มีการปรับเปลี่ยนมาติดตั้งอุปกรณ์ดังกล่าวมากขึ้น
สำหรับการติดตั้งอุปกรณ์คอนเวอร์ชันคิตในหลายประเทศมีการใช้อุปกรณ์นี้อย่างแพร่หลายและมีมาตรฐานออกมารองรับ ขณะที่ไทยยังไม่มีมาตรฐานรองรับในส่วนนี้ หากผลการศึกษาออกมาจะช่วยผลักดันสู่การออกมาตรฐานอย่างเป็นทางการได้ ที่สำคัญทำให้การส่งเสริมการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์เพิ่มขึ้นได้ รวมทั้ง พพ.ยังได้ศึกษาและทดสอบการติดตั้งอุปกรณ์คอนเวอร์ชันคิตในรถยนต์ทุกชนิดทุกระบบ คาดว่าปลายปีนี้จะได้ความชัดเจนของผลการศึกษา ทั้งเรื่องการสิ้นเปลืองพลังงาน การสึกหรอของเครื่องยนต์ ผลกระทบต่ออุปกรณ์ต่างๆ และเกณฑ์มาตรฐานมลภาวะ เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชนว่าใช้ได้จริง มีรถยนต์รุ่นไหนใช้ได้บ้าง และไม่มีผลต่อเครื่องยนต์
ทั้งนี้ พพ.ได้รับความร่วมมือจากค่ายรถยนต์ต่างๆ ในการส่งรถยนต์มาใช้ทดสอบระบบ หากผลการศึกษาออกมาในเชิงบวกจะหารือกับค่ายรถยนต์ต่างๆ ต่อไปเพื่อผลักดันโครงการ ทั้งนี้ จะมีการนำเสนอผลการทดสอบและศึกษาให้ประชาชนรับทราบ พร้อมทั้งมองว่าการส่งเสริมการใช้ อี85 ในรถยนต์ต้องทำต่อเนื่อง แต่ต้องใช้มาตรการทางภาษีสรรพสามิตเข้ามาช่วยกระตุ้นการเพิ่มฐานการผลิตรถยนต์ อี85 ของค่ายรถยนต์ต่างๆ ในไทยมากขึ้น ขณะนี้ไทยมีค่ายรถยนต์ผลิตหลายค่าย เช่น มิตซูบิชิ จีเอ็ม ฮอนด้า วอลโว่ โดยภาครัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้ค่ายรถยนต์มีการผลิตเพิ่มขึ้นด้วยการลดอัตราภาษีสรรพสามิต กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการพิจารณาความเหมาะสม
นายไกรฤทธิ์กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงพลังงาน กระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังเร่งหารือการศึกษาโครงสร้างภาษีสรรพสามิตที่เหมาะสม ซึ่งรัฐบาลค่อนข้างเน้นหนักและให้การสนับสนุน โดยกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างสรุปผลการศึกษาเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา ทั้งนี้ การใช้พลังงานทดแทนจะใช้ก๊าซซีโอทูตัวก่อมลภาวะเรือนกระจกเป็นส่วนประกอบหลักมาพิจารณากรอบอัตราโครงสร้างภาษี เพราะมีผลกระทบต่อผู้ประกอบการหลายส่วน จึงจำเป็นต้องดำเนินการอย่างรอบคอบที่สุด