สมาคมอุตฯ ยานยนต์ยอมรับ โครงสร้างภาษีรถใหม่คำนวณจากอัตราการปล่อยก๊าซ CO2 ออกสู่สิ่งแวดล้อม กระทบค่ายรถ “ปิกอัพ-พีพีวี” มากกว่า “รถเก๋ง” เพราะต้องใช้เวลาปรับตัวนานกว่า แต่เชื่อค่ายรถมีการปรับตัวได้
นางเพียงใจ แก้วสุวรรณ นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย กล่าวถึงโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ใหม่ที่ใช้แนวคิดการจัดเก็บ โดยเปลี่ยนจากคำนวณภาษีจากขนาดความจุกระบอกสูบเครื่องยนต์หันมาให้ความสำคัญดูแลสิ่งแวดล้อมคำนวณภาษีจากอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ออกสู่สิ่งแวดล้อมแทน โดยมีเจ้าภาพหลัก 3 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพลังงาน และกระทรวงการคลัง ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างร่วมจัดทำแผน
กรณีดังกล่าว ยอมรับว่าค่ายรถยนต์ภายในประเทศเริ่มมีความตื่นตัวและเห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าวเพราะเป็นแนวโน้มของโลกอยู่แล้ว และรัฐบาลควรให้เวลาในการปรับตัวแก่ค่ายรถยนต์พอสมควร ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลเห็นว่าเวลาในการปรับตัว 3 ปีน่าจะเหมาะสม แต่โดยข้อเท็จจริงแล้วแต่ละค่ายรถยนต์มีความพร้อมในการปรับตัวต่างกันออกไป
นางเพียงใจกล่าวเสริมว่า การปรับตัวของค่ายรถยนต์ต่างกันออกไป โดยเฉพาะค่ายรถยนต์ที่ผลิตรถยนต์กระบะมากกว่ารถเก๋งอาจต้องขอเวลาปรับตัวมากกว่า เพราะช่วงเวลาในการเปลี่ยนรถกระบะแต่ละรุ่นไปสู่รุ่นใหม่อาจนาน 8-10 ปี ประกอบกับรถกระบะของแต่ละค่ายรถยนต์ที่ผลิตออกมามีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่สิ่งแวดล้อมในระดับที่ต่างกันออกไป ในขณะที่การเปลี่ยนรุ่นใหม่ของรถเก๋งจะมีเวลาที่สั้นกว่า ดังนั้นค่ายรถยนต์ที่ผลิตรถเก๋งมากกว่าจะปรับตัวได้ง่ายกว่า
อย่างไรก็ตาม แม้โครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ใหม่จะออกมาและมีผลใช้บังคับ เชื่อว่าค่ายรถยนต์จะมีทางออกในการปรับตัวเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันทางการตลาดโดยเฉพาะตลาดในประเทศตามโครงสร้างภาษีใหม่เอาไว้ได้ เพราะมีทางออกที่หลากหลายในการปรับตัว ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถกระบะขนาด 1 ตัน อันดับ 1 ของโลก โดยในช่วง 8 เดือนแรกปีนี้ (มกราคม-สิงหาคม) มียอดผลิตคิดเป็นร้อยละ 56 ของยอดผลิตรวม ซึ่งปีนี้ประเทศไทยจะมียอดผลิตรถยนต์ในภาพรวมทั้งสิ้นประมาณ 2.3 ล้านคัน