xs
xsm
sm
md
lg

พม่าดูการพัฒนาท่าเรือที่แหลมฉบังเล็งใช้เป็นโมเดลที่ทวาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กระทรวงอุตสาหกรรมต้อนรับ “เต็งเส่ง” ประธานาธิบดีพม่าซึ่งเดินทางมาดูการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมโดยเฉพาะแนวทางการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกที่แหลมฉบัง “วิกรม” ควงแขนดูการพัฒนานิคมฯ อมตะที่ชลบุรี เผยกำลังศึกษาพัฒนานิคมฯ ที่พม่า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2555 ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ให้การต้อนรับคณะของนายเต็งเส่ง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ที่ได้เดินทางมายังศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 4 แหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี เพื่อดูแนวทางการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกรวมถึงการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของไทย

นายเฉลิมเกียรติ สลักคำ ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง กล่าวว่า พม่าให้ความสนใจรูปแบบการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังมาก และจะใช้เป็นรูปแบบหรือโมเดลไปพัฒนาท่าเรือในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายของพม่า ขณะเดียวกันยังระบุว่าท่าเรือแหลมฉบังของไทยจะเป็นประโยชน์ในการลดต้นทุนด้านการขนส่งของพม่าที่จะผ่านไปยังจีน และญี่ปุ่น

นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า วันที่ 23 ก.ค. ทางประธานาธิบดีของพม่าจะหารือระดับทวิภาคีกับไทย ซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธาน โดยจะเป็นการหารือระดับรัฐต่อรัฐ ดังนั้นภาพความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับพม่าน่าจะชัดเจนมากขึ้นในส่วนของการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายจากที่ผ่านมาส่วนใหญ่เป็นการขับเคลื่อนโดยเอกชน

“กนอ.เป็นกลไกของรัฐบาล ดังนั้นคงจะต้องรอนโยบายจากรัฐเป็นสำคัญที่จะกำหนดบทบาทของ กนอ.ต่อการพัฒนาทวาย แต่ในส่วนของการพัฒนาพื้นที่ในไทยเพื่อรองรับนิคมฯ ทวายนั้นในสัปดาห์หน้าจะรับฟังความเห็นเพื่อพัฒนานิคมฯ พุน้ำร้อน ที่ จ.กาญจนบุรี ซึ่งจะเป็นนิคมฯ ด้านลอจิสติกส์ในการเชื่อมต่อกับทวาย คาดว่า 1-2 เดือนจะชัดเจน” นายวีรพงศ์กล่าว

สำหรับการมาครั้งนี้ของพม่าเพราะตั้งใจจะผลักดันโครงการที่ทวายจึงมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากไทย ซึ่งขณะนี้ต้องยอมรับว่าทั่วโลกกำลังมองการลงทุนไปที่พม่า ขณะที่กระแสสิ่งแวดล้อมเองก็ได้รับความสนใจ ซึ่ง กนอ.ก็มีประสบกาณ์ทางด้านนี้ที่จะต้องพัฒนาอุตสาหกรรมให้อยู่ร่วมกับชุมชนและสิ่งแวดล้อม

นายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.อมตะคอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า อมตะฯ กำลังศึกษาการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในพม่าในหลายพื้นที่ ส่วนที่ทวายจะมีส่วนเข้าไปร่วมหรือไม่อย่างไรยังไม่สามารถระบุได้ โดยการเดินทางของประธานาธิบดีพม่าครั้งนี้จะเข้าเยี่ยมชมนิคมฯ อมตะใน จ.ชลบุรีด้วย ซึ่งทางอมตะก็จะชี้ให้เห็นถึงการพัฒนานิคมฯ ของเครืออมตะทั้งในไทย และเวียดนาม

ทั้งนี้ การพัฒนานิคมฯ ทวายหากไทยและพม่าร่วมมือกันจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อทุกฝ่าย โดยเฉพาะไทยจะลดต้นทุนด้านการขนส่งสินค้าอย่างมาก ซึ่งขณะนี้ไทยมีจุดอ่อน 3 ประเด็น คือ
1. พลังงาน ที่ขณะนี้ไทยใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟสูงถึง 70% หากเชื่อมโยงกันที่ไม่ใช่แค่พม่าแต่จะไปถึงอินเดีย ไทยจะมีโอกาสแสวงหาแหล่งก๊าซฯ เพิ่มขึ้น 2. ค่าขนส่ง ที่ขณะนี้ไทยมีค่าขนส่งคิดเป็น 15% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมหรือจีดีพี หากเกิดทวายการขนส่งจะไม่ต้องอ้อมแหลมมลายูจะลดต้นทุนได้อีก 4% และ 3. ความสามารถในการดึงดูดการลงทุนในต่างประเทศของไทยลดลงเพราะมีเรื่องสิ่งแวดล้อมการต่อต้านจากองค์กรภาคเอกชน ต้นทุนที่สูงขึ้น โดยเฉพาะจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน

กำลังโหลดความคิดเห็น