xs
xsm
sm
md
lg

“ยงสิทธิ์” ลดขัดแย้งตั้ง “รณชิต-ชัยสิทธิ์” คัมแบ็กรองผู้ว่าฯ รฟม.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล ผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)
“ยงสิทธิ์” ประเดิมงานแรกเสนอบอร์ด รฟม.ตั้ง “รณชิต-ชัยสิทธิ์” นั่งรองผู้ว่าฯ รฟม.เหมือนเดิม ซื้อใจสลายขั้วลดขัดแย้ง เดินหน้าปรับโครงสร้าง รฟม. เพิ่ม CFO และผู้ช่วยผู้ว่าฯ ตั้งเป้าเดินหน้าเร่งงานรถไฟฟ้า 6 สายตามนโยบาย ต้องใช้คนมีประสบการณ์ช่วยทำงาน เล็งพัฒนาธุรกิจหารายได้เสริม ส่วนบอร์ดรับทราบผลเจรจาจ้าง BMCL เดินรถสีม่วงวงเงิน 8.4 หมื่น ล. ลดจากที่เสนอ 9.3 หมื่น ล. ตลอด 30 ปี เตรียมเสนอ ครม. พร้อมเล็งรีไฟแนนซ์เงินกู้ 8 หมื่น ล. หลังปี 54 ขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนหมื่น ล.

นางรัชนี ตรีพิพัฒน์กุล ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมบอร์ด รฟม.เมื่อวันที่ 19ก.ค.ได้เห็นชอบโยกย้ายผู้บริหารรฟม.ตามที่นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล ผู้ว่าฯรฟม.คนใหม่เสนอ โดยโยกย้ายนายรณชิต แย้มสอาด จากที่ปรึกษาระดับ 14 เป็นรองผู้ว่าฯ รฟม.(ปฎิบัติการ) และโยกย้ายนายชัยสิทธิ์ คุรุรัตน์ จากที่ปรึกษาระดับ 14 เป็นรองผู้ว่าฯ รฟม.(กลยุทธ์) เพื่อให้สอดคล้องกับการปรับโครงสร้าง รฟม.ใหม่ซึ่งได้มีการสรรหาผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน (CFO) ระดับเท่ากับรองผู้ว่าฯ รฟม.เข้ามาบริหารจัดการการเงินและการพัฒนาธุรกิจเพื่อหารายได้เพิ่มตามคำสั่งของกระทรวงการคลัง

นายยงสิทธิ์กล่าวว่า การโยกย้ายนายรณชิต และนายชัยสิทธิ์มาเป็นรองผู้ว่าฯ ซึ่งเป็นตำแหน่งเดิมนั้นเป็นวิธีการที่ดีที่สุด เพราะนอกจากเป็นการจัดกำลังคนที่มีประสบการณ์มาทำงานตามศักยภาพแล้ว เนื่องจาก รฟม.มีงานมากแล้ว ยังเป็นการสร้างบรรยากาศในการทำงานลดความขัดแย้งในองค์กรด้วย ซึ่งหลังจากนี้จะมีการเพิ่มระดับผู้ช่วยผู้ว่าการฯ อีก 2 คนด้วย รวมกับผู้ช่วยผู้ว่าการฯ ที่เดิมมี 4 คนเป็น 6 คน ซึ่งเป็นการเพิ่มกำลังคนเพื่อให้เหมาะสมกับภารกิจของ รฟม.

ในการทำงานช่วง 1-3 เดือนแรกจะเร่งจัดสรรกำลังคนที่มีอยู่ให้สอดคล้องกับงานที่มีก่อน และจะต้องมีการเพิ่มคนในส่วนที่มีไม่เพียงพอ เพราะพบว่างานบางเรื่องคนรับผิดชอบหลักเพียงคนเดียวซึ่งจะทำให้งานหนักเกินไป การส่งต่องานมีสภาพเป็นคอขวด ซึ่งเป้าหมายในการทำงานของผมคือ เร่งรัดการเซ็นสัญญารถไฟฟ้า 6 สายให้ครบตามนโยบายรัฐบาล นอกจากนี้จะต้องทำแผนการพัฒนาธุรกิจเพื่อหารายได้เพิ่มให้องค์กรด้วย” นายยงสิทธิ์กล่าว

BMCL ลดค่าจ้างเดินรถสีม่วงเหลือ 8.4 หมื่น ล.

นอกจากนี้ที่ประชุมบอร์ด รฟม.ได้รับทราบผลการเจรจาค่าบริหารการเดินรถและค่าซ่อมบำรุงสัญญาที่ 4 โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ กับบริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BMCL ซึ่งคณะกรรมการมาตรา 13 ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 35) ได้ยุติแล้วที่วงเงินประมาณ 84,000 ล้านบาท จากที่ BMCL เสนอ 93,475 ล้านบาทตลอดอายุสัญญา 30 ปี รูปแบบ PPP โดยอยู่ระหว่างการสรุปรายละเอียดเสนอกระทรวงคมนาคมเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ พร้อมกันนี้ ในส่วนของ รฟม.จะมีการทำแผนการบริหารการเดินรถเองเพื่อเป็นข้อมูลประกอบเปรียบเทียบ หาก ครม.ไม่เห็นแก่ผลการเจรจากับ BMCL โดยพบว่าหาก รฟม.เดินรถเองจะมีต้นทุนต่ำกว่าจ้างเอกชนเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยกรณีรัฐกู้เงินลงทุนเองจะต่ำกว่าประมาณ 1-2%

รวมถึงเห็นชอบผลการเจรจาต่อรองราคางานโยธาระบบรางโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางใหญ่-บางซื่อ) สัญญา 6 มูลค่า 3,638 ล้านบาท ซึ่ง บมจ.อิตาเลียนไทยฯ ยอมปรับลดราคาลงเหลือ 3,585 ล้านบาทต่ำกว่ากรอบวงเงินและลดจากวงเงินที่เสนอ 4,142 ล้านบาทเกือบ 20% โดยวงเงินที่ปรับลด เช่น เอกชนยอมรับผิดชอบค่าภาษีศุลกากรนำเข้าชิ้นส่วนประมาณ 192 ล้านบบาท เป็นต้น ส่วนสาเหตุที่ยอมลดลงต่ำกว่ากรอบราคาเพราะอาจจะประเมินแล้วว่าหากไม่ลดจะต้องเปิดประมูลใหม่ซึ่งไม่แน่ว่าจะได้งานหรือไม่

นายรัชนีกล่าวว่า ขณะนี้ รฟม.อยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อรีไฟแนนซ์เงินกู้ วงเงินประมาณ 80,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินกู้สกุลเยน เนื่องจากมีความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนสูง โดยปี 2554 ต้องขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนถึง 10,000 ล้านบาท ส่วนปี 2555 ช่วง 8 เดือนที่ผ่านมามีกำไรประมาณ 1,080 ล้านบาท ซึ่งหลังจากได้ตั้งอนุกรรมการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนเงินกู้ และหารือกฤษฎีกาแล้วว่า รฟม.สามารถดำเนินการได้ โดยร่วมกับสำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ซึ่งอยู่ระหว่างเตรียมเสนอรายละเอียดการรีไฟแนนซ์ต่อ สบน.สิ้นเดือนกรกฎาคมนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น