ครม.เห็นชอบ “ยงสิทธิ์” อดีตผู้บริหารไทยคม นั่งผู้ว่าฯ รฟม.คนใหม่ บอร์ด รฟม.เรียกเซ็นสัญญาจ้าง 18 ก.ค. เริ่มงานทันที 19 ก.ค. “รัชนี” เผย รฟม.ขาดผู้ว่าฯ มา 2 ปี หวังให้งานเดินหน้า ด้านอิตาเลียนฯ ยอมลดราคาวางรางสีม่วงอยู่ในกรอบ 3.6 พัน ล. ชงบอร์ด 19 ก.ค.นี้ ก่อนรายงานไจก้าเร่งทำสัญญา
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (17 ก.ค.) เห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอแต่งตั้งนายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล อดีตผู้บริหาร บริษัท ชิน แซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) โดยให้ได้รับค่าตอบแทนคงที่ในอัตราเดือนละ 340,000 บาท รวมทั้งสิทธิประโยชน์อื่นๆ ตามที่กระทรวงการคลังเห็นชอบแล้ว โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ลงนามในสัญญาจ้างเป็นต้นไป
รายงานข่าวแจ้งว่า การสรรหาผู้ว่าฯ รฟม.ครั้งนี้เป็นไปด้วยความรวดเร็ว โดยใช้เวลาตั้งแต่เริ่มประกาศสรรหาจนถึงการเสนอขออนุมัติที่ประชุม ครม.เพียง 2 เดือนครึ่ง ในขณะที่การสรรหาฯ ใน 2 ครั้งก่อนหน้านี้ เพื่อแทนนายชูเกียรติ โพธยานุวัตร ผู้ว่าฯ รฟม.คนก่อนซึ่งเสียชีวิตไปนั้น ใช้เวลาครั้งละเป็นปีและมีปัญหาจนต้องล้มการสรรหาฯ ไปทั้ง 2 ครั้ง
ด้านนางสาวรัชนี ตรีพิพัฒน์กุล ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. กล่าวว่า จะลงนามในสัญญาว่าจ้างนายยงสิทธิ์ เป็นผู้ว่าฯ รฟม.ในวันที่ 18 กรกฎาคม และให้เริ่มทำงานทันทีในวันที่ 19 กรกฎาคม ซึ่งจะมีการประชุมบอร์ด รฟม.ด้วย โดยการสรรหาครั้งนี้เป็นไปตามขั้นตอนและ รฟม.ขาดผู้ว่าฯ มานานกว่า 2 ปีแล้ว การมีผู้ว่าฯ ก็จะทำให้การบริหารงานมีความรวดเร็วขึ้น โดยในการประชุมบอร์ดวันที่ 19 ก.ค.นี้จะมีการรายงานเบื้องต้นการเจรจาต่อรองราคาโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ สัญญาที่ 4 ซึ่งเป็นงานเดินรถ กับ บมจ.รถไฟฟ้ากรุงเทพ หรือบีเอ็มซีแอล ที่ได้ข้อสรุปแล้ว และอยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียด
รายงานข่าวจาก รฟม.แจ้งว่า ขณะนี้คณะกรรมการประกวดราคาโยธาโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ งานระบบราง (สัญญาที่ 6) มูลค่า 3,638 ล้านบาทที่มีนายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล รองผู้ว่าฯ รฟม. เป็นประธาน ได้เจรจากับ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ยุติแล้ว โดยผู้รับเหมายอมลดราคาลงมาอยู่ในระดับที่ต่ำกว่ากรอบวงเงินแล้ว จากที่เสนอราคาที่ 4,142 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) โดยคาดว่าจะนำเสนอบอร์ดอนุมัติได้ในวันที่ 19 ก.ค.นี้ จากนั้นจะส่งเรื่องให้องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น หรือไจก้า เห็นชอบ และเสนอให้ที่ประชุม ครม.เห็นชอบก่อนลงนามในสัญญาต่อไป