xs
xsm
sm
md
lg

“คมนาคม” ทบทวนแอร์พอร์ตลิงก์เชื่อมดอนเมือง เล็งใช้ทางร่วมกับไฮสปีด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สั่ง สนข.ทบทวนแอร์พอร์ตลิงก์ส่วนต่อขยายเชื่อม 2 สนามบิน ประเมินจำนวนผู้โดยสารใหม่ เหตุโครงการทับซ้อนกับสายสีแดงและรถไฟความเร็งสูง เล็งลดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานโดยใช้รางร่วมกัน โดยจัดระบบการเดินรถให้เหมาะสม

วานนี้ (9 ก.ค.) นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและบริษัทที่ปรึกษาโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง เพื่อหารือถึงการพัฒนาระบบรางด้านเหนือของกรุงเทพฯ ที่เหมาะสมและชัดเจน เนื่องจากในแนวดังกล่าวจะมีโครงสร้างของ 3 ระบบ คือ รถไฟฟ้าสายสีแดง รถไฟฟ้าความเร็วสูง และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์(พญาไท-บางซื่อ-ดอนเมือง)

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า แนวดังกล่าวจะมีรางขนาด 1 เมตร คือสายสีแดง และราง 1.435 เมตร คือแอร์พอร์ตลิงก์และรถไฟความเร็วสูง จึงต้องทบทวนแผนและการบริหารการเดินรถ ซึ่งจะมีทั้งรถไฟฟ้า รถสินค้า และรถโดยสารทั่วไปที่มีความเร็วต่างกันให้เกิดความเหมาะสมและสอดคล้องกับปริมาณผู้โดยสารเพื่อให้เกิดความคุ้มค่าในการลงทุนมากที่สุด โดยมีสถานีกลางที่บางซื่อ ซึ่งมอบหมายให้นายประเสริฐ อัตตะนันทน์ รองผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ประชุมร่วมกับที่ปรึกษารายงานผลในสัปดาห์หน้า

ส่วนแอร์พอร์ตลิงก์ส่วนต่อขยายนั้นเนื่องจากมีแนวเส้นทางทับซ้อนกับสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) ได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ทบทวนตัวเลขผู้โดยสารใหม่ รวมถึงนโยบายการใช้ท่าอากาศยานดอนเมืองของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.ประกอบด้วย เนื่องจากจำนวนผู้โดยสารและการเดินทางเชื่อมต่อระหว่างท่าอากาศยานดอนเมืองกับสุวรรณภูมิ จะส่งผลต่อความคุ้มค่าของการบริหารการเดินรถของโครงการ นอกจากนี้จะต้องพิจารณาถึงการวางโครงสร้างรถไฟความเร็วสูงด้วย เนื่องจากสามารถใช้ทางร่วมกับแอร์พอร์ตลิงก์ได้ เพราะใช้รางขนาด 1.435 เมตรเหมือนกัน

“นโยบายนายกฯ ยืนยันว่าจะต้องมีการเชื่อม 2 สนามบินแน่นอน แต่จะเชื่อมอย่างไรเป็นเรื่องของการบริหารการเดินรถ เช่น ให้แอร์พอร์ตลิงก์และรถไฟความเร็วสูงใช้ทางร่วมกันจะช่วยลดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานลง ซึ่งพบว่าที่สุวรรณภูมิ แอร์เอเชียมีผู้โดยสารต่อเครื่องเพียง 10% เมื่อย้ายมาที่ดอนเมืองก็อาจจะลดลงอีก ตอนนี้ยังมีโอกาสทบทวนปรับปรุงแผนได้โดยนำแต่ละโครงการมามองในภาพรวมเพื่อให้การลงทุนคุ้มค่าที่สุด” นายชัชชาติกล่าว

อย่างไรก็ตาม ในเดือนกุมภาพันธ์ 2556 ไทยจะมีการจัดนิทรรศการรถไฟความเร็วสูงเพื่อแสดงเทคโนโลยีจากทั่วโลก ซึ่งขณะนี้ทั้งจีน ญี่ปุ่น เกาหลี สนใจที่จะเข้ามาลงทุนรถไฟความเร็วสูงในประเทศไทยอย่างมาก โดยล่าสุดทางจีนได้เสนอให้มีการเดินรถสินค้าในเส้นทางที่เชื่อมจีน-ลาว-หนองคาย-ท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) ด้วย โดยมีจุดแยกขบวนสินค้ากับผู้โดยสารที่แก่งคอย
กำลังโหลดความคิดเห็น