“ชัชชาติ” สั่งศึกษานำรถไฟฟ้าบีทีเอสมาอยู่ในกำกับกระทรวงคมนาคม ก่อนเจรจา กทม. ยันเป็นคนละเรื่องกับจ้างบีทีเอสซีเดินรถ 17 ปี
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้นายประภัสร์ จงสงวน กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และอดีตผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ไปพิจารณารายละเอียดการนำรถไฟฟ้าบีทีเอสมาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงคมนาคม จากปัจจุบันที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรุงเทพมหานคร (กทม.) เนื่องจากได้พิจารณาแล้วเห็นว่าการอยู่ภายใต้กำกับดูแลของกระทรวงคมนาคมจะส่งผลดีต่อประชาชนมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ การที่กระทรวงคมนาคมต้องการนำรถไฟฟ้าบีทีเอสมาอยู่ภายใต้การกำกับดูแล เพราะกระทรวงคมนาคมดูแลในเรื่องของระบบขนส่งมวลชนของประเทศอยู่แล้ว หากนำรถไฟฟ้าบีทีเอสมาได้ก็จะช่วยให้การดำเนินงานตามนโยบายการเชื่อมโยงระบบขนส่งมวลชนมีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะเดียวกัน การให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอสในอนาคตก็ไม่ได้ให้บริการอยู่เฉพาะใน กทม.อีกต่อไป จะต้องขยายออกไปยังจังหวัดปริมณฑลด้วย เช่น ส่วนต่อขยายช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่ ที่กระทรวงคมนาคมเป็นผู้กำกับดูแล
นายชัชชาติกล่าวว่า การเจรจากับ กทม.ในเรื่องดังกล่าวคงต้องใช้เหตุและผลที่ชัดเจนเกี่ยวกับประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับกรณีที่ กทม.ว่าจ้างบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี เดินรถไฟฟ้าบีทีเอสในเส้นทางเดิมที่ได้รับสัมปทานออกไปอีก 17 ปี เพราะเรื่องดังกล่าวเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะตรวจสอบและพิจารณาว่าการดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ซึ่งไม่เกี่ยวกับการเจรจาขอรถไฟฟ้าบีทีเอสมาอยู่ในกำกับดูแลของกระทรวงคมนาคม
“ที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมยังไม่เคยหารือเรื่องดังกล่าวกับทาง กทม. หากจะเข้าไปหารือร่วมกันก็ต้องมีรายละเอียดที่ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวก่อน ซึ่งเรื่องการนำรถไฟฟ้าบีทีเอสมาอยู่ในกำกับดูแลของกระทรวงคมนาคม กับเรื่องการว่าจ้างบีทีเอสซีของ กทม. เป็นคนละเรื่องกัน ไม่สามารถนำมารวมกันได้” นายชัชชาติกล่าว
อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่ต้องมีการเจรจากับทาง กทม.ในช่วงนี้ เพราะพิจารณาแล้วเห็นว่าหากต้องรอไปอีก 30 ปีก็คงจะนานเกินไป โดยยืนยันว่าการดำเนินการดังกล่าวยึดเอาผลประโยชน์สูงสุดของประชาชนผู้ใช้บริการเป็นหลัก