ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ ธอส.เผย 6 เดือนแรกปีนี้โครงการคอนโดฯ แห่เปิดตัวเพียบ แนวโน้มครึ่งปีหลังยังไปได้สวย ส่วนโครงการแนวราบผู้ประกอบการเบนเข็มไปทำเลน้ำไม่ท่วม ส่วนทำเลจมน้ำรอตัดสินใจ ต.ค.นี้ ด้านลูกค้าบ้าน ธอส.เตรียมเฮ “แบงก์ชาติ” ยอมเพิ่มซอฟต์โลนน้ำท่วมเฟส 2 วงเงิน 1.4 หมื่นล้าน
นายสัมมา คีตสิน ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2555 (มกราคม-มิถุนายน) มีการเปิดโครงการคอนโดมิเนียมไปแล้วประมาณ 38,000 ยูนิต ถือว่าค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ทั้งนี้ คาดว่าอีก 6 เดือนที่เหลือของปีนี้ หรือในช่วงครึ่งปีหลังน่าจะมีการเปิดเพิ่มอีกประมาณ 20,000 ยูนิต ส่งผลให้ทั้งปีมีการเปิดคอนโดมิเนียมประมาณ 60,000 ยูนิต โดยในช่วงครึ่งปีหลังผู้ประกอบการหันไปพัฒนาโครงการแนวราบในพื้นที่น้ำไม่ท่วม แต่ในทำเลที่น้ำท่วมนั้นคงต้องรอดูหลังจากเดือนตุลาคม 2555 จึงค่อยตัดสินใจ
โดยการสำรวจโครงการที่ขึ้นใหม่ในช่วงครึ่งแรกปีนี้ พบว่าส่วนใหญ่จะเปิดย่านรัชดาฯ-ห้วยขวาง รองลงมาเป็นช่วงสุขุมวิทตอนปลาย หรือตั้งแต่ซอย 101 ขึ้นไป โดยย่านรัชดาภิเษกพบว่ามีการเปิดตัวคอนโดมิเนียมใหม่รวม 8,000 ยูนิต
ขณะที่สุขุมวิทตอนปลายมีการเปิดตัวโครงการคอนโดมิเนียมใหม่รวม 7,000 ยูนิต โดยมาจาก 3 ปัจจัย คือ 1. สร้างทดแทนแนวราบที่ถูกน้ำท่วมไปเมื่อปลายปี 2554 2. มีส่วนต่อขยายเส้นทางรถไฟฟ้า และ 3. โครงการที่เปิดใหม่ราคาจะไม่ปรับไปสูงมาก เนื่องจากคู่แข่งมากทำให้ตั้งราคาขายไม่โอเวอร์เกินไป
นายสัมมายอมรับว่า ช่วงแรกของปีก็ขายดี แต่ปรากฏว่าในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมาการซื้อค่อนข้างชะลอตัวเล็กน้อยเพราะเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกมีความผันผวน ทำให้นักลงทุนชะลอการตัดสินใจซื้อ เพราะต้องยอมรับว่าการซื้อคอนโดมิเนียมส่วนหนึ่งเป็นการซื้อเพื่อการลงทุน และมีต่างชาติจำนวนหนึ่งมาซื้อด้วย
ส่วนความคืบหน้าโครงการสินเชื่อช่วยผู้ประสบภัยพิบัติ (ซอฟต์โลน) ระยะที่ 2 มีรายงานข่าวเพิ่มเติมว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เตรียมจะอนุมัติเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 3% ระยะเวลา 5 ปี ตามมติคณะกรรมการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ที่ขอเพิ่มเติมอีก 14,000 ล้านบาท เพื่อนำมาร่วมกับเงินของธนาคารอีก 6,000 ล้านบาท รวมเป็นวงเงิน 20,000 ล้านบาท นำมาปล่อยกู้ให้ประชาชนเพิ่มเติมได้
ทั้งนี้ เพื่อรองรับความต้องการที่มีจำนวนมาก จากครั้งแรกวงเงิน 9,000 ล้านบาท ซึ่งหมดลงภายในเวลาเพียง 3 วัน และยังมีลูกค้า ธอส.ที่ได้รับความเดือดร้อนรอเข้าคิวขอกู้เงินอีก 5,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ให้วงเงินเพื่อแก้ปัญหาและเยียวยาอุทกภัยไว้ถึง 300,000 ล้านบาท แต่ปรากฏว่ามีธนาคารพาณิชย์เข้ามาขอซอฟต์โลนเพื่อปล่อยสินเชื่อดังกล่าวน้อยมาก