กรมธุรกิจพลังงานเผยแนวโน้มการขอเปิดปั๊มแอลพีจีใหม่เริ่มชะลอตัวลงแล้วหลังรัฐส่งสัญญาณเลิกอุดหนุนราคาต่ำเพื่อรองรับการเข้าสู่ AEC ปี 2558 เตือนเอกชนต้องคิดให้ดี ขณะที่ผู้ค้าแอลพีจียันไม่ขึ้นค่าขนส่งหากรัฐตรึงดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร
นายสมนึก บำรุงสาลี รองอธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้แนวโน้มการขออนุญาตประกอบการปั๊มแอลพีจีใหม่เริ่มลดลงแล้วเนื่องจากรัฐบาลมีความชัดเจนที่จะปรับโครงสร้างราคาแอลพีจี (ก๊าซหุงต้ม) ให้สะท้อนกลไกตลาดโลกเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ในปี 2558 ที่ถึงจุดนั้นไทยจะไม่สามารถอุดหนุนราคาพลังงานได้ต่อไปเพราะเท่ากับจะต้องแบกรับการอุดหนุนให้ประเทศเพื่อนบ้านด้วย ดังนั้นผู้ที่คิดจะเปิดปั๊มแอลพีจีใหม่จึงต้องพิจารณาให้ดี
สำหรับจำนวนปั๊มแอลพีจีตั้งแต่เดือน ม.ค. 55 มีจำนวน 1,040 แห่ง ก.พ. 1,045 แห่ง มี.ค. 1,051 แห่ง เม.ย. 1,054 แห่ง และ พ.ค. 1,063 แห่ง จะเห็นว่ามีอัตราการขยายตัวต่อเนื่องแต่ก็เป็นอัตราการเติบโตที่เริ่มชะลอตัวลงหากเทียบกับช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาที่การเติบโตเป็นแบบก้าวกระโดด และคาดว่าแนวโน้มช่วงสิ้นปีนี้การเกิดปั๊มใหม่น่าจะมีทิศทางที่ลดลงชัดเจนขึ้น
นายชิษณุพงศ์ รุ่งโรจน์งามเจริญ นายกสมาคมผู้ค้าก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) กล่าวว่า รัฐควรจะพิจารณาปรับโครงสร้างราคาแอลพีจีให้สะท้อนตลาดโลกที่เป็นราคาเดียวไม่ควรแยกเป็นหลายราคาเพราะควบคุมยาก แล้วหามาตรการดูแลผลกระทบภาคครัวเรือนแทน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สมาคมฯ ยังคงตรึงค่าขนส่งแอลพีจีเฉลี่ยที่ 10 บาทต่อถัง (ถัง 15 กิโลกรัม) เนื่องจากรัฐบาลได้ตรึงราคาดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร
“ยอมรับว่าหากดีเซลเกิน 30 บาทต่อลิตรโดยเลยไป 31-32 บาทเราเองก็คงจะต้องขอขึ้นค่าขนส่งประมาณ 5 บาทต่อถัง เพราะต้นทุนหลายด้านปรับขึ้นขณะที่ค่าขนส่งเราตรึงมานานมากแล้ว ส่วนค่าแรง 300 บาทต่อวันที่รัฐบาลปรับขึ้นจากผลสำรวจพบว่า 80% จ่ายเกินอยู่แล้วเพราะงานขนส่งแอลพีจีเป็นงานหนัก ตรงกันข้ามเรากลับขาดแคลนแรงงานมากขึ้นเพราะเขาหันไปทำงานโรงงานกัน” นายชิษณุพงศ์กล่าว
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบทางอ้อมคือการที่ค่าจ้างอื่นๆ ขึ้นไป 300 บาทต่อวันทำให้ผู้ประกอบการต้องจูงใจในการจ่ายเพิ่มขึ้นไปอีกเพื่อรักษาคนงานไว้เนื่องจากงานขนแอลพีจีเป็นงานหนักทำให้หาแรงงานยาก ดังนั้นผู้ประกอบการพยายามลดต้นทุนในทุกๆ ด้านโดยเฉพาะกรณีที่ลูกค้าอยู่ไม่ไกลจากร้านจำหน่ายก็ใช้วิธีส่งโดยการปั่นรถจักรยานแทนการขับรถจักรยานยนต์ นอกจากนี้ผู้ที่เป็นเจ้าของร้านเองแต่ก่อนมักจะใช้ลูกน้องดำเนินการขนส่งเป็นหลักบางครั้งต้องลงมาช่วยหรือลงมือเองแล้ว