กระแสการปรับคณะรัฐมนตรีในช่วงที่ผ่านมา ที่มีข่าวว่าพรรคชาติไทยพัฒนาอาจหลุดจากรัฐบาล หรือไม่ก็หลุดจากการดูแลกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ทำให้แนวคิดเรื่องการปิดกิจการบริษัทไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด จำกัด หรือทีพีซี ผู้บริหารโครงการบัตรไทยแลนด์ อีลิท การ์ด ที่นายชุมพล ศิลปอาชา รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาประกาศติดต่อกันมานานเกือบ 3 ปี ต้องกลับลำหันมาอ้างอิงและใช้ผลการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อปี 2550 ที่สรุปว่าอีลิท การ์ดเป็นโครงการที่ดีหากทำได้จะมีประโยชน์ต่อประเทศ แต่ที่ผ่านมาผิดพลาดเรื่องการบริหารจัดการ จึงสมควรที่จะปรับเปลี่ยนบริษัทใหม่ให้ดีขึ้นก็สามารถอยู่ต่อได้ด้วยลำแข้งของตัวเอง
****กว่า 200 ล้านบาทละลายใน 3 ปี
ถึงวันนี้ “อีลิท การ์ด” บักโกรกอย่างยิ่งจากเงินสดที่เหลือน้อยนิด ไม่พอแม้แต่จะใช้จ่ายให้ถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม 2555 ทั้งที่ในตอนนี้ ครม.มีมติให้ทบทวนการดำเนินกิจการของอีลิทการ์ด เมื่อต้นปี 2552 บริษัทมีเงินสดพร้อมใช้จ่ายอยู่กว่า 211 ล้านบาท เท่ากับว่าในเวลา 3 ปีที่ผ่านมาอีลิทการ์ดได้ใช้เงินไปกว่า 200 ล้านบาท ซึ่งแม้จะเป็นเงินที่ได้มาจากการขายบัตรสมาชิก
แต่ส่วนหนึ่งก็เป็นเงินจากภาษีของประชาชนเช่นกัน ซึ่งรวมแล้วเป็นเงินเกือบ 3,000 ล้านบาท ตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทมาเมื่อปี 2546 เงิน 3,000 ล้านบาทที่ถูกถลุงไปไม่ใช่น้อยๆ กับผลกลับคืนที่เป็นลบ
การปล่อยให้ธุรกิจไม่สามารถเดินต่อไปได้ จนต้องควักเงินจากกระเป๋าที่มีอยู่ใช้ไปจนหมดสิ้น เพราะตลอด 3 ปีไม่มีการตัดสินใจว่าจะจัดการกับโครงการนี้อย่างไร เพราะหากปิดกิจการก็ต้องใช้เงินกว่า 2,500 ล้านบาทชดเชยสมาชิก ไม่นับรวมเงินที่อาจต้องจ่ายเพิ่มหากเกิดการฟ้องร้อง ทำต่อก็ผลาญงบไม่เลิก จะปิดกิจการก็ต้องใช้งบอีกมหาศาล โอละพ่อ
ผู้บริหารทีพีซี และ ททท. ได้เพียรทำแผนยุบเลิกกิจการ แผนธุรกิจ และรีดไขมันปรับลดค่าใช้จ่ายองค์กร เพื่อให้เงินที่มีอยู่ใช้ให้ได้นานที่สุด ด้วยความหวังจะมีวันได้ฟื้นคืนชีพอีกครั้ง และมีความเป็นไปได้ที่ความฝันนั้นจะสมหวังในรัฐบาลชุดนี้
การเสนอของบ 581 ล้านบาทเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาของกระทรวงการท่องเที่ยวฯ เพื่อให้แก่ บริษัททีพีซี แบ่งเป็น 81 ล้านบาทเพื่อเสริมสภาพคล่องระหว่าง 6 เดือนที่เหลือของปี 2555 และอีก 500 ล้านบาทเป็นการชำระทุนจดทะเบียนส่วนที่ยังค้างจ่าย ซึ่ง ครม.ก็มีมติอนุมัติให้ 20 ล้านบาทสำหรับเสริมสภาพคล่องของบริษัท และจัดจ้างผู้เชี่ยวชาญมาจัดทำแผนธุรกิจและการตลาดเพื่อนำเสนอต่อที่ประชุม ครม.ให้ทันภายใน 2 เดือน
เพราะรู้ดีว่า ททท.มีก๊อกสองประกันความเสี่ยง ด้วยการบรรจุวงเงินชำระทุนจดทะเบียน 500 ล้านบาทให้แก่ทีพีซีไว้ในงบประมาณปี 2556 ของ ททท.
****อีลิทส้มหล่นได้เงินเพิ่ม 20 ล้านบาท
รูปแบบการบริหารงบประมาณแบบแบ่งเป็นวงเงินไม่มากนัก ถือเป็นสไตล์พรรคชาติไทย พัฒนา เพราะมีความเป็นไปได้สูงที่จะได้รับการอนุมัติ เห็นได้จากเป็นวิธีการเดียวกันกับการของบประมาณเพื่อสร้างศูนย์ประชุมนานาชาติ จ.เชียงใหม่ หากแต่ว่าทำไมเงิน 81 ล้านที่ได้อนุมัติที่ 20 ล้านบาทนั้น ทำไมไม่นำไปหักลบกลบหนี้กับเงินชำระค่าทุนจดทะเบียนที่ยังค้างอยู่อีก 500 ล้านบาทที่อีลิทการ์ดจะได้รับตามกฎหมาย กลับกลายเป็นส่วนที่อีลิทการ์ดจะได้เพิ่มเข้ามา
ขณะที่วันรุ่งขึ้นหลังจากที่ ครม.มีมติไปแล้ว ที่ประชุมบอร์ด ททท.ยังอนุมัติวงเงินกู้ยืมให้แก่ทีพีซีอีก 5 ล้านบาท เต็มวงเงินของ ททท.ที่มีอำนาจให้เงินกู้ยืมได้
แม้สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สรทท.) จะยื่นหนังสือคัดค้าน แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ เพราะเป็นการยื่นในวันที่บอร์ดมีการพิจารณา
โดยพนักงาน ททท.ส่วนหนึ่งได้กล่าวว่า การเสนอให้เงินกู้ยืมแก่อีลิทการ์ด เป็นวาระที่รู้กันเฉพาะในกลุ่มผู้บริหาร ททท. ซึ่งได้รับคำสั่งมาจากผู้ใหญ่อีกทีให้เสริมสภาพคล่องให้แก่อีลิทการ์ด จนกว่าแผนกู้ซากอีลิทการ์ดจะผ่านความเห็นชอบจาก ครม. และได้เงินมาใช้จ่ายกันอีกครั้ง
ทั้งที่จริงหากรัฐบาลเลือกวิธีปรับแผนบริหารงานเพื่อให้กิจการอีลิทการ์ดเดินหน้าต่อไปได้ ก็ไม่เห็นจะต้องใช้เวลาตัดสินใจนานถึง 3 ปี รอจนเงิน 211 ล้านบาทที่มีอยู่ต้องหมดไปพร้อมกับความว่างเปล่า เพียงแค่โครงการนี้ปิดไม่ได้เพราะเป็นโครงการที่ก่อตั้งโดยรัฐบาลของพรรคเพื่อไทย และเป็นโครงการที่เกิดจากความคิดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
ดังนั้น หากล้มโครงการก็เท่ากับยอมรับในข้อผิดพลาดของตัวเอง ซึ่งไม่ใช่แนวทางของพรรคการเมืองนี้ จึงจำเป็นต้องเดินหน้าโครงการต่อไป แบบไม่ต้องคิดว่าต้องนำเงินที่ได้จากการเก็บภาษีประชาชนไปอุดอีกเท่าใด
ขณะที่ประชาชนผู้เดือดร้อนจากผลของมหาอุทกภัยเมื่อปลายปี 2554 กลับได้รับค่าชดเชย ความเสียหายเป็นเงินเพียงน้อยนิด บางพื้นที่ได้หลังละไม่กี่ร้อยบาท
ทว่า เงิน 20 ล้านบาทที่อนุมัติให้อีลิทการ์ดใช้เวลาพิจารณาไม่ถึง 10 นาที ทั้งที่เงินจำนวนนี้ จะนำไปใช้เพื่อให้บริการแก่สมาชิกผู้ถือบัตร ที่ล้วนเป็นนักธุรกิจ และเศรษฐี
หากจะอ้างว่าเป็นการต่อยอดธุรกิจ เพราะนักธุรกิจที่ถืออีลิทการ์ดได้นำเงินมาลงทุนในประเทศไทย 9 โครงการ รวมเม็ดเงินที่ 22,761 ล้านบาท ถึงวันนี้ก็ไม่ได้มีความชัดเจนในรายละเอียดว่าเป็นใคร และโครงการใดบ้าง หรือเป็นตัวเลขที่ยกเมฆมาถ่วงน้ำหนักไว้เฉยๆ