xs
xsm
sm
md
lg

ผี"อีลิท"กระหายเงิน ผลาญชาติ3พันล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กระแสการปรับคณะรัฐมนตรีในช่วงที่ผ่านมา ที่มีข่าวว่า พรรคชาติไทยพัฒนา อาจหลุดจากรัฐบาล หรือไม่ก็หลุดจากการดูแลกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ทำให้แนวคิดเรื่องการปิดกิจการบริษัทไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด จำกัด หรือ ทีพีซี ผู้บริหารโครงการบัตรไทยแลนด์ อีลิท การ์ด ที่ นายชุมพล ศิลปอาชา รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาประกาศติดต่อกันมานานเกือบ 3 ปี ต้องกลับลำ หันมาอ้างอิงและใช้ผลการศึกษา จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี 2550 ที่สรุปว่า อีลิท การ์ดเป็นโครงการที่ดีหากทำได้จะมีประโยชน์ต่อประเทศ แต่ที่ผ่านมาผิดพลาดเรื่องการบริหารจัดการ จึงสมควรที่จะปรับเปลี่ยน บริษัท ใหม่ให้ดีขึ้น ก็สามารถอยู่ต่อได้ด้วยลำแข้งของตัวเอง

****กว่า 200 ล้านบาทละลายใน 3 ปี
ถึงวันนี้ “อีลิท การ์ด” บักโกรกอย่างยิ่ง จากเงินสดที่เหลือน้อยนิด ไม่พอแม้แต่จะใช้จ่ายให้ถึงสิ้นเดือน กรกฎาคม 2555 ทั้งที่ในตอนนี้ ครม. มีมติให้ทบทวนการดำเนินกิจการของอีลิทการ์ด เมื่อต้นปี 2552 บริษัทมีเงินสดพร้อมใช้จ่ายอยู่กว่า 211 ล้านบาท เท่ากับว่า ในเวลา 3 ปีที่ผ่านมา อีลิทการ์ด ได้ใช้เงินไปกว่า 200 ล้านบาท ซึ่งแม้จะเป็นเงินที่ได้มาจากการขายบัตรสมาชิก
แต่ส่วนหนึ่งก็เป็นเงินจากภาษีของประชาชนเช่นกัน ซึ่งรวมแล้วเป็นเงินเกือบ 3,000 ล้านบาท ตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทมาเมื่อปี 2546

เงิน 3,000 ล้านบาทที่ถูกถลุงไปไม่ใช่น้อยๆกับผลกลับคืนที่เป็นลบ

การปล่อยให้ธุรกิจไม่สามารถเดินต่อไปได้ จนต้องควักเงินจากกระเป๋าที่มีอยู่ใช้ไปจนหมดสิ้น เพราะ ตลอด 3 ปี ไม่มีการตัดสินใจว่า จะจัดการกับโครงการนี้อย่างไร เพราะหากปิดกิจการ ก็ต้องใช้เงินกว่า 2,500 ล้านบาท ชดเชยกับสมาชิก ไม่นับรวมเงินที่อาจต้องจ่ายเพิ่มหากเกิดการฟ้องร้อง

ทำต่อก็ผลาญงบไม่เลิก จะปิดกิจการก็ต้องใช้งบอีกมหาศาล โอละพ่อ

ผู้บริหาร ทีพีซี และ ททท. ได้เพียรทำแผนยุบเลิกกิจการ แผนธุรกิจ และ รีดไขมันปรับลดค่าใช้จ่ายองค์กร เพื่อให้เงินที่มีอยู่ใช้ให้ได้นานที่สุด ด้วยความหวัง จะมีวันได้ฟื้นคืนชีพอีกครั้ง และ มีความเป็นไปได้ที่ความฝันนั้นจะสมหวังในรัฐบาลชุดนี้

การเสนอของงบ 581 ล้านบาท เมื่อสัปดาห์ที่ผานมา ของ กระทรวงการท่องเที่ยว เพื่อให้แก่ บริษัท ทีพีซี แบ่งเป็น 81 ล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่อง ระหว่าง 6เดือนที่เหลือของปี 2555 และ อีก 500 ล้านบาท เป็นการชำระทุนจดทะเบียนส่วนที่ยังค้างจ่าย ซึ่ง ครม. ก็มีมติ อนุมัติให้ 20 ล้านบาท สำหรับเสริม สภาพคล่องของบริษัท และจัดจ้างผู้เชี่ยวชาญมาจัดทำแผนธุรกิจและการตลาดเพื่อนำเสนอต่อที่ประชุม ครม.ให้ทันภายใน 2 เดือน

เพราะรู้ดีว่า ททท.มีก๊อกสองประกันความเสี่ยง ด้วยการบรรจุ วงเงินชำระทุนจดทะเบียน 500 ล้านบาท ให้แก่ ทีพีซี ไว้ในงบประมาณปี 2556 ของ ททท.

****อีลิทส้มหล่นได้เงินเพิ่ม20ล้านบาท

รูปแบบการบริหารงบประมาณแบบแบ่งเป็นวงเงิน ไม่มากนัก ถือเป็น สไตล์ พรรคชาติไทย พัฒนา เพราะมีความเป็นไปได้สู่ ที่จะได้รับการอนุมัติ เห็นได้จากเป็นวิธีการเดียวกันกับ การของบประมาณเพื่อสร้างศูนย์ประชุม นานาชาติ จ.เชียงใหม่ หากแต่ว่า ทำไมเงิน 81 ล้าน ที่ได้อนุมัติ ที่ 20 ล้านบาทนั้น ทำไมไม่ นำไปหักหลบกลบหนี้ กับเงินชำระค่าทุนจดทะเบียนที่ยังค้างอยู่อีก 500ล้านบาทที่อีลิทการ์ดจะได้รับตามกฎหมาย กลับกลายเป็นส่วนที่อีลิทการ์ดจะได้เพิ่มเข้ามา

ขณะที่วันรุ่งขึ้นหลังจากที่ ครม. มีมติไปแล้ว ที่ประชุม บอร์ด ททท. ยังอนุมัติวงเงินกู้ยืมให้แก่ทีพีซีอีก 5 ล้านบาท เต็มวงเงินของททท.ที่มีอำนาจให้เงินกู้ยืมได้

แม้สหภาพรัฐวิสาหกิจการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(สรทท.) จะยื่นหนังสือคัดค้าน แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ เพราะเ ป็นการยื่นในวันที่บอร์ดมีการพิจารณา

โดยพนักงาน ททท. ส่วนหนึ่งได้กล่าวว่า
การเสนอให้เงินกู้ยืมแก่ อีลิทการ์ด เป็น วาระ ที่ รู้กันเฉพาะในกลุ่มผู้บริหาร ททท. ซึ่งได้รับคำสั่ง มาจากผู้ใหญ่อีกที ให้เสริมสภาพคล่องให้แก่อีลิทการ์ด จนกว่าแผนกู้ซาก อีลิทการ์ด จะผ่านความเห็นชอบจาก ครม. และได้เงินมาใช้จ่ายกันอีกครั้ง

ทั้งที่จริง หากรัฐบาลเลือกวิธีปรับแผนบริหารงาน เพื่อให้กิจการอีลิทการ์ดเดินหน้าต่อไปได้ ก็ไม่เห็นจะต้อง ใช้เวลาตัดสินใจนานถึง 3 ปี รอจนเงิน 211 ล้านบาท ที่มีออยู่ต้องหมดไปพร้อมกับความว่างเปล่า เพียงแค่โครงการนี้ปิดไม่ได้ เพราะเป็นโครงการที่ก่อตั้งโดยรัฐบาล ของพรรคเพื่อไทย และ เป็นโครงการที่เกิดจากความคิด ของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร

ดังนั้นหากล้มโครงการ ก็เท่ากับ ยอมรับในข้อผิดพลาดของตัวเอง ซึ่งไม่ใช่แนวทางของพรรคการเมืองนี้ จึงจำเป็นต้องเดิน หน้าโครงการต่อไป แบบไม่ต้องคิดว่าต้องนำเงินที่ได้ จากการเก็บภาษีประชาชนไปอุดอีกเท่าใด

ขณะที่ ประชาชนผู้เดือดร้อนจากผลของมหาอุทกภัย เมื่อปลายปี 2554 กลับได้รับค่าชดเชย ความเสียหายเป็นเงินเพียงน้อยนิด บ้างพื้นที่ได้หลังละไม่กี่ร้อยบาท

ทว่าเงิน 20 ล้านบาท ที่อนุมัติให้ อีลิทการ์ด ใช้เวลาพิจารณาไม่ถึง 10 นาที ทั้งที่เงินจำนวนนี้ จะนำไปใช้เพื่อให้บริการแก่สมาชิกผู้ถือบัตร ที่ล้วนเป็น นักธุรกิจและเศรษฐี

หากจะอ้างว่างเป็นการต่อยอดธุรกิจ เพราะนักธุรกิจที่ถือบัตรอีลิทการ์ด ได้นำเงินมาลงทุนในประเทศไทย 9 โครงการ รวมเม็ดเงินที่ 22,761 ล้านบาท ถึงวันนี้ ก็ไม่ได้มีความชัดเจนในรายละเอียดว่าเป็นใคร และโครง การใดบ้าง หรือเป็นตัวเลขที่ยกเมฆ มาถ่วงน้ำหนักไว้เฉยๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น