“แอร์พอร์ตลิงก์” เสี่ยงหยุดบริการเร็วๆ นี้ พนักงานสุดทนการบริหารภายในเหตุถูกกดเงินเดือนและสวัสดิการไม่สมกับเป็นรัฐวิสาหกิจ ชี้เหตุอะไหล่ขาดแคลนเพราะมีการดึงเรื่องไม่อนุมัติจัดซื้อปกติ หวังรอปัญหาสุกงอม สุดท้ายอ้างเร่งรีบแล้วซื้อวิธีพิเศษแทน แฉทีวีหลายสถานีที่ชานชาลาเริ่มพัง เหตุจ่ายแพงแต่รับของสเปกต่ำราคาถูกมาใช้งาน จี้เร่งตั้งผู้บริหารตัวจริง ไม่เอาผู้นำโคลนนิ่งวัฒนธรรมการทำงานแบบ ร.ฟ.ท. “จารุพงศ์” ไม่รู้มีปัญหา ยันต้องแก้ไขไม่ให้ประชาชนต้องเดือดร้อน
แหล่งข่าวจากบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ เปิดเผยว่า มีความเป็นไปได้สูงที่รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์จะหยุดให้บริการในเร็วๆ นี้หากยังไม่มีการแก้ปัญหาการบริหารงานภายใน ทั้งเรื่องการปรับเงินเดือนประจำปี และดูแลสวัสดิการที่เหมาะสมให้พนักงาน ซึ่งถือเป็นปัญหาที่แท้จริงของแอร์พอร์ตลิงก์ โดยที่ผ่านมาพนักงานหลายฝ่ายได้มีการประชุมร่วมกันเพื่อกำหนดท่าทีในการเคลื่อนไหว ซึ่งจะมีการส่งสัญญาณไปถึงระดับผู้กำกับนโยบายซึ่งอยู่เหนือผู้บริหารเพื่อให้รับทราบปัญหาที่แท้จริงก่อน และหากยังไม่มีการแก้ไขให้ดีขึ้นก็จะมีการหยุดเดินรถแน่นอน
โดยก่อนหน้านี้มีข่าวว่าแอร์พอร์ตลิงก์กำลังมีปัญหาขาดแคลนอะไหล่เพราะจัดซื้อไม่ทัน และอาจต้องหยุดวิ่งใน 2 เดือนนี้ แต่เรื่องที่สำคัญกว่าและจะทำให้แอร์พอร์ตลิงก์ต้องหยุดบริการก่อน 2 เดือนหากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน คือ ปัญหาของพนักงานที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมและไม่ได้รับการดูแลจากบริษัท
ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่า พนักงานในระดับปฏิบัติการส่วนใหญ่ได้รับเงินเดือนเฉลี่ยประมาณ 8,000 บาท และไม่มีการพิจารณาปรับเงินเดือนประจำปีให้เมื่อเดือนตุลาคม 2554 นอกจากนี้ กรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ปรับเงินเดือนพนักงานรัฐวิสาหกิจขึ้น 5% ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2555 เรื่องนี้ก็ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ส่วนสวัสดิการนั้นถือว่ามีน้อยมาก เช่น ค่ารักษาพยาบาลกรณีเจ็บป่วยหรือเกิดอุบัติเหตุจะต้องใช้บริการโรงพยาบาลของรัฐเท่านั้นจึงจะเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ โดยพนักงานจะต้องสำรองจ่ายไปก่อนแล้วจึงจะนำมาเบิกภายหลัง แต่หากเป็นโรงพยาบาลเอกชนจะเบิกไม่ได้เลย
“เมื่อเร็วๆ นี้มีพนักงานประจำสถานีซึ่งมีเงินเดือนแค่ 8,000 กว่าบาท เกิดอุบัติเหตุก็ต้องเดือดร้อนหาเงินหลายหมื่นบาทเพื่อมาจ่ายค่ารักษาก่อน เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจมาก ซึ่งพนักงานควรได้รับการดูแลที่ดีกว่านี้ เพราะแอร์พอร์ตลิงก์ก็ถือเป็นรัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่ง แต่พนักงานกลับต้องทำงานด้วยความลำบาก และยังมีปัญหาอุปกรณ์เครื่องมือในการทำงานไม่มี บางครั้งต้องหามาเอง”
สำหรับกรณีการจัดซื้อจัดจ้างอุปกรณ์และอะไหล่ของรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ที่ล่าช้าจนส่งผลทำให้เกิดภาวะขาดแคลนนั้น แหล่งข่าวกล่าวว่า ที่ผ่านมาการตรวจสอบอุปกรณ์และอะไหล่เพื่อจัดซื้อนั้นมีการดำเนินตามขั้นตอนและวางแผนสำรองไว้ก่อนเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาและกระทบต่อการบริการ แต่เมื่อมีการเสนอเรื่องขึ้นไปตามลำดับขั้น กลับมีขบวนการที่แสดงให้เห็นว่ามีความตั้งใจจากผู้มีอำนาจอนุมัติพยายามดึงเรื่องให้ล่าช้า เพื่อให้เกิดภาวะความต้องการแบบเร่งด่วนและใช้เงื่อนเวลาอ้างเพื่อเปลี่ยนวิธีการจัดซื้อแบบปกติเป็นการจัดซื้อวิธีพิเศษแทน นอกจากนี้ การจัดซื้อจัดจ้างอุปกรณ์ต่างๆ ที่ผ่านมามีการกำหนดสเปกสูงซึ่งราคาจะสูงไปด้วย แต่เมื่อส่งมอบกลับได้รับอุปกรณ์ที่มีสเปกต่ำกว่าที่ตั้งไว้ ทำให้ชำรุดเร็วและไม่สามารถเคลมประกันได้ เช่น การจัดซื้อทีวีเพื่อนำมาติดตั้งที่ชานชาลาสถานีแอร์พอร์ตลิงก์ ได้กำหนดว่าจะต้องเป็นทีวีจอภาพ LCD สำหรับติดตั้งภายนอกอาคาร แต่มีการรับมอบแบบติดตั้งในบ้านมาใช้ ซึ่งขณะนี้ชำรุดและไม่สามารถใช้งานได้หลายสถานีแล้ว เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม พนักงานส่วนใหญ่ต้องการให้แยกการบริหารงานของแอร์พอร์ตลิงก์ออกจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และต้องการผู้บริหารตัวจริงทั้ง CEO (ผู้บริหารสูงสุด), COO (ผู้บริหารด้านปฏิบัติการ), CFO (ผู้บริหารด้านการเงิน) เนื่องจากเห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากการใช้วัฒนธรรมการบริหารงานของ ร.ฟ.ท.มาบริหารแอร์พอร์ตลิงก์
นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานเรื่องพนักงานแอร์พอร์ตลิงก์ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการทำงาน ซึ่งทุกปัญหาจะต้องเร่งแก้ไขเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบจนถึงขั้นหยุดเดินรถเพราะจะทำให้ประชาชนเดือดร้อน ซึ่งจากการประชุมติดตามปัญหาแอร์พอร์ตลิงก์เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พบว่างบลงทุนแอร์พอร์ตลิงก์ 3 หมื่นล้านบาทถูกนำไปจ่ายค่าก่อสร้างอุโมงค์เข้าสนามบินสุวรรณภูมิ 4,000 ล้านบาทจึงเกิดปัญหาขึ้น ซึ่งได้ให้ผู้บริหารไปทำแผนแก้ปัญหาดังกล่าวและเสนอที่ประชุมภายใน 2 สัปดาห์