xs
xsm
sm
md
lg

ด่วน! กพ.ชงเลื่อนหมื่นห้า เริ่มปี57 แถม“เออร์ลี่ รีไทร์”ขรก.ปีสุดท้าย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ช่วงบ่าย วันที่ 10 เม.ย.นี้ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เสนอให้ ครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบ การปรับปรุงค่าตอบแทนข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ : การปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุและการปรับเงินเดือนชดเชย ภายหลังจากที่มีมติ ครม.เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2555 เห็นชอบให้ปรับเงินเดือนแรกบรรจุตามคุณวุฒิการศึกษาของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐในปีที่ 1 ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2555 ให้ผู้มีคุณวุฒิตั้งแต่ระดับปริญญาตรีขึ้นไปได้รับเงินเดือนแรกบรรจุ รวมกับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวจะมีรายได้ไม่น้อยกว่า 15,000 บาท และวุฒิต่ำกว่าปริญญาตรีได้รับการปรับรายได้เพิ่มขึ้นตามระดับวุฒิการศึกษาเช่นเดียวกัน รวมทั้ง การชดเชยให้ผู้ได้รับผลกระทบ โดยให้มีผลใช้บังคับไปพร้อมกัน
โดย ครม.อนุมัติหลักการให้ใช้จ่ายงบประมาณเพื่อการปรับปรุงค่าตอบแทนดัวกล่าว วงเงิน 1.8 หมื่นล้านบาท และได้มอบหมายให้นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ร่วมกับสำนักงาน ก.พ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาการปรับให้บรรลุเป้าหมายตามนโยบายรัฐบาล โดยคำนึงถึงสภาวะเศรษฐกิจและสถานะการเงินการคลังของประเทศ และผลกระทบต่อการจ้างงานของเอกชน ซึ่งสำนักงาน ก.พ.ได้มีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.พ.แล้ว
เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2555
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แนวทางดำเนินการที่ได้ปรับปรุงใหม่ ในส่วนของข้าราชการพลเรือนสามัญ กำหนดอัตราเงินเดือนแรกบุรรจุให้บรรลุเป้าหมายตามนโยบายรัฐบาลในอีก 2 ปีถัดไป โดยให้อัตราเงินเดือนแรกบุรรจุขั้นต่ำของวุฒิปริญญาตรีในปีที่ 2 (ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2557) เท่ากับ 15,000 บาท ปีที่ 1 (ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2556) เท่ากับ 13,300 บาท วุฒิ ปวส.ปีที่ 2 เท่ากับ 11,500 บาท ปีที่ 1 เท่ากับ 10,200 บาท (วุฒิ ปวส.คงความแตกต่างของเงินเดือนกับวุฒิปริญญาตรี) และวุฒิ ปวช. ปีที่ 2 เท่ากับ 9,400 บาท และปีที่ 1 เท่ากับ 8,300 บาท (วุฒิ ปวช.คงความแตกต่างของเงินเดือนกับวุฒิ ปวส.) และกำหนดอัตราเงินเดือนแรกบรรจุขั้นต่อของคุณวุฒิอื่นให้สอดคล้องกับอัตราความแตกต่างระหว่างคุณวุฒิต่างๆ ที่กำหนดไว้เดิม
โดยสรุปอัตราค่าตอบแทนแรกบรรจุเมื่อปรับใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2556 วุฒิ ปวช. 8,300 บาท ปวส. 10,200 บาท ปริญญาตรี 13,300 บาท ปริญญาโท 16,400 บาท ปริญญาเอก 20,000 บาท และตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2557 วุฒิ ปวช. 9,400 บาท ปวส. 11,500 บาท ปริญญาตรี 15,000 บาท ปริญญาโท 17,500 บาท ปริญญาเอก 21,000 บาท ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า นอกจากนี้ ให้ปรับเงินเดือนชดเชยให้ผู้ได้รับผลกระทบ 2 ครั้ง ให้มีผลใช้บังคับพร้อมกับการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุในปีที่ 1 และปีที่ 2 โดยปรับเงินเดือนชดเชยให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายผู้เข้ารับราชการในตำแหน่ง ระดับแรกบรรจุก่อนวันที่อัตราเงินเดือนแรกบรรจุที่ปรับใหม่ มีผลใช้บังคับ อย่างน้อย 10 ปี (มีอายุราชการตั้งแต่ 1 วันถึง 10 ปีโดยประมาณ) ส่วนข้าราชการประเภทอื่นและเจ้าหน้าที่ของรัฐให้ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการบริหารงานบุคคลของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐแต่ละประเภท นำเสนอคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องให้ความเห็นชอบในรายละเอียดการของปรับในแนวทางเดียวกัน และนำเสนอ ครม.พิจารณาอนุมัติให้ใช้งบประมาณประจำปี 2556-2557 ก่อนดำเนินการบังคับใช้ต่อไป คาดว่าจะใช้งบประมาณเพื่อการปรับเงินเดือนแรกบรรจุ และการปรับเงินเดือนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบของข้าราชการทุกประเภทและเจ้าหน้าที่ของรัฐ สำหรับการดำเนินการในปีที่ 1 (ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2556) เพิ่มขึ้นประมาณ 5,010 ล้านบาท และสำหรับการดำเนินการในปีที่ 2 (ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2557) เพิ่มขึ้นประมาณ 7,135 ล้านบาท
นอกจากนี้ ทางคณะกรรมการบริหารพนักงานราชการ (คพร.) ยังได้เสนอให้ ครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบการปรับค่าตอบแทนแรกบรรจุ และการชดเชยผู้ได้รับผลกระทบของพนักงานราชการ เพื่อปรับเงินเดือนแรกบรรจุของพนักงานราชการให้สอดคล้อง เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลด้วยเช่นกัน โดยนำบัญชีอัตราเงินเดือนแรกบรรจุของข้าราชการพลเรือนสามัญเป็นฐานการคำนวณ กำหนดค่าตอบแทนแรกบรรจุพนักงานราชการกลุ่มทั่วไปบวกเพิ่มอีก 20% จากอัตราแรกบรรจุข้าราชการ ส่วนกลุ่มงานวิชาชีพเฉพาะให้บวกเพิ่ม 30% และปรับวุฒิการศึกษาอื่นๆ ให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน ทั้งนี้ เสนอขอนุมัติงบประมาณดำเนินการปรับค่าตอบแทนแรกบรรจุ การชดเชยผู้ได้รับผลกระทบของพนักงานราชการ และเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว จำนวน 137,129 คน โดยต้องใช้งบฯ ปีงบประมาณ 2556-2557 รวมทั้งสิ้นจำนวน 6,634 ล้านบาท
ในการประชุม ครม. วันเดียวกัน นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกฯและรมว.มหาดไทย ในฐานะประธานกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) ขอความเห็นชอบดำเนินการปรับปรุงอัตรากำลังของส่วนราชการ (โครงการเกษียณอายุก่อนกำหนดปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 ออกจากราชการ ณ วันที่ 1 ต.ค.2555) ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของกรอบระยะเวลาที่กำหนดตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2550 ที่เห็นชอบการดำเนินการมาตรการเกษียณก่อนกำหนด ในระยะเวลาดำเนินการ 5 ปีงบประมาณ (พ.ศ.2552-2556) ซึ่งที่ผ่านมามีการดำเนินการไปแล้ว 4 ครั้ง คือ ปีงบประมาณ พ.ศ.2552-2555 โดยมีผู้เข้าร่วมมาตรการฯ รวม 83,204 คน อย่างไรก็ตามหากจะดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวนี้ในอนาคต จะต้องมีการทบทวนผลการดำเนินการและกำหนดแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมเพื่อเสนอ ครม.พิจารณา โดยกำหนดการบริหารทรัพยากรบุคคลเป็น 4 กรณีคือ
กรณีที่ 1 ครม.มีมติให้ส่วนราชการปรับเปลี่ยนสถานภาพโดยออกจากระบบราชการ ไม่กำหนดจำนวนผู้เข้าร่วมมาตรการฯ กรณีที่ 2 ส่วนราชการประสงค์จะยุบเลิกบางภารกิจ ไม่กำหนดจำนวนผู้เข้าร่วม กรณีที่ 3 ส่วนราชการมีอัตรากำลังเกิน กำหนดผู้เข้าร่วมไม่เกินร้อยละ 10 ของกลุ่มเป้าหมาย และกรณีที่ 4 ส่วนราชการมีข้าราชการสูงอายุ (50 ปีขึ้นไป) มากกว่าร้อยละที่กำหนด คือ ตั้งแต่ร้อยละ 20 ขึ้นไป เข้าร่วมได้ไม่เกินร้อยละ 5 ของกลุ่มเป้าหมาย กรณีมีข้าราชการอายุ 50 ปีขึ้นไป ตั้งแต่ร้อยละ 10 แต่ไม่ถึงร้อยละ 20 เข้าร่วมได้ไม่เกินร้อยละ 3 ของกลุ่มเป้าหมาย
โดยกรณีที่ 1-3 ส่วนราชการต้องยุบเลิกตำแหน่ง ส่วนกรณีที่ 4 ไม่ต้องยุบเลิกตำแหน่ง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทั้งนี้รายละเอียดการดำเนินการในปีงบฯ 2556 ให้เป็นเช่นเดียวกับปีงบฯ 2555 และเห็นควรให้ผู้มีเงินได้ที่ออกจากราชการตามมาตรการฯ และได้รับสิทธิประโยชน์ที่เป็นเงินก้อน(เงินช่วยเหลือผู้ซึ่งออกจากราชการตามมาตรการฯ) ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2556 ได้รับการยกเว้นไม่ต้องนำเงินก้อนดังกล่าวมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ บุคคลธรรมดา เช่นเดียวกับผู้ได้รับสิทธิประโยชน์ที่เป็นเงินก้อนก่อนวันที่ 1 ม.ค. 2556 และเห็นควรให้กระทรวงศึกษาธิการกำหนดแนวทางหรือแผนการบริหารอัตรากำลัง เพื่อให้การลาออกของข้าราชการครูไม่กระทบต่อประสิทธิภาพและผลสัมฤทธิ์ของการศึกษาในภาพรวม.
กำลังโหลดความคิดเห็น