“วีรพงษ์” ฟุ้ง GDP ไทยปีนี้โต 6-6.5% หลังส่งออกเริ่มขยายตัวจากแผนฟื้นฟูน้ำท่วม ลงทุนเอกชนพุ่งแถมเงินกระตุ้นเศรษฐกิจรัฐเสริม ส่งสัญญาณ ธปท.ไม่มีเหตุผลที่จะขยับดอกเบี้ยขึ้นอีกอ้างเงินเฟ้อไม่ได้เพิ่มมากแถมเงินสำรองประเทศยังล้น เตือนรับมือแรงงานขาดแคลนอาจต้องจ่ายแพงเพิ่มอีก
นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศไทย (กยอ.) บรรยายพิเศษเรื่อง ยุทธศาสตร์ประเทศไทยหลังปี 2015 ซึ่งจัดโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) วันที่ 2 พฤษภาคม 55 ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) ของไทยปี 2555 คาดว่าจะโต 6-6.5% สาเหตุจากภาวะการส่งออกตั้งแต่ไตรมาส 2 คาดว่าจะกลับมาขยายตัวต่อเนื่องถึงสิ้นปีจากภาคการผลิตเริ่มกลับมาฟื้นตัวจากน้ำท่วม ประกอบกับยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนยังคงเพิ่มขึ้น และการใช้จ่ายจากภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม มีความกังวลเรื่องเงินเฟ้อซึ่งตัวเลขกระทรวงพาณิชย์ชี้ชัดว่าสินค้าอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับราคาพลังงานอัตราราคาสินค้าก็ไม่ได้สูงมากโดยเฉพาะกลุ่มอาหาร ตรงกันข้ามหมวดนี้ดัชนีราคาผู้บริโภคกลับมีแนวโน้มจะลดลง ดังนั้นเมื่อเงินเฟ้อไม่ได้สูงขึ้นควบคู่กับสภาพคล่องทางการเงินของไทยที่มีสูง 2 ล้านล้านบาท ความจำเป็นที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะขึ้นดอกเบี้ยคงไม่มีแถมอาจปรับลดลงด้วยซ้ำ
“เงินใช้จ่ายจากรัฐเริ่มทยอยเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจจากงบประมาณเยียวยาและฟื้นฟูน้ำท่วม 1.2แสนล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่นำไปเยียวยาประชาชนโดยตรงก็จ่ายหมดแล้ว และยังมีงบที่จะเกี่ยวข้องกับการลงทุนป้องกันน้ำท่วมอีก 3.5 แสนล้านบาท เราคิดว่าเงินส่วนนี้จะเข้ามาได้ปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า” นายวีรพงษ์กล่าว
ทั้งนี้ การฟื้นตัวเศรษฐกิจครึ่งปีหลังจะทำให้อุตสาหกรรมไทยขาดแคลนแรงงาน ประกอบกับพม่ามีเศรษฐกิจร้อนแรงที่สุด แรงงานพม่าจากไทยจะไหลกลับประเทศ อุตสาหกรรมไทยที่ใช้แรงงานเหล่านี้จะต้องจ่ายค่าแรงที่เพิ่มขึ้นอีกต้องเตรียมตัวเน้นการใช้เครื่องจักแทนมากขึ้น
นอกจากนี้ รัฐมีนโยบายที่จะเร่งสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะการพัฒนาภาคการขนส่งทางอากาศเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจซึ่งจะมีการใช้สนามบินดอนมืองเพื่อลดความแออัดของสนามบินสุวรรณภูมิ และจะเชื่อมการเดินทางของสนามบินทั้งสองแห่งโดยการลงทุนส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ (Airport Rail Link) ให้มีประสิทธิภาพ โดยมีแนวคิดที่จะจัดสัดส่วนการถือหุ้นใหม่ที่มีบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และเอกชนเพื่อให้การบริการมีศักยภาพลดความเป็นรัฐวิสาหกิจลงมา
เตรียมเลิกส่งเสริมการลงทุนเป็นรายเขต
ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยในการรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC เป็นสิ่งที่รัฐบาลคงจะต้องชี้นำและทำงานร่วมกับเอกชน ซึ่งนโยบายดังกล่าวรัฐบาลได้วางแผนแล้วโดยจะมองใน 5 ปัจจัย ได้แก่ 1. ปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่ขณะนี้บีโอไออยู่ระหว่างปรับปรุงซึ่งคาดว่าจะเสร็จปลายปีนี้ โดยเบื้องต้นจะยกเลิกเขตส่งเสริมการลงทุนที่จะให้สิทธิประโยชน์ตามเขต 1 2 และ 3 เป็นรายกิจการแทน รวมถึงจะส่งเสริมให้นักลงทุนไทยไปลงทุนยังต่างประเทศ
2. การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการลงทุนที่จะเชื่อมโยงในภูมิภาคภายในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน เช่น รถไฟความเร็วสูง การขยายสนามบิน ฯลฯ 3. การพัฒนากำลังคน 4. เพิ่มผลิตภาพการผลิต 5. การให้ธุรกิจเข้าถึงแหล่งทุน
สำหรับอุตสาหกรรมที่จะขับเคลื่อนการเติบโตของ AEC พบว่ามี 12 กิจการ ได้แก่ 1. เกษตร 2. ยานยนต์ 3. ไอซีที 4. ขนส่งทางอากาศ 5. อิเล็กทรอนิกส์ 6. ประมง 7. สุขภาพ 8.ยางพารา 9. ท่องเที่ยว 10. ลอจิสติกส์ 11. สิ่งทอ และ 12. ไม้แปรรูป โดยพบว่าอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ไทยมีความเข้มแข็งที่สามารถจะผลักดันให้ไทยสู่การเป็น HUB การผลิตได้ในภูมิภาคนี้ ได้แก่ ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เกษตร ขนส่งทางอากาศ ฯลฯ อย่างไรก็ตาม มีหลายอุตสาหกรรมที่ต้องปรับตัวโดยเฉพาะด้านไอซีทีที่ไทยจะต้องลงทุนเพิ่มขึ้นอีกมาก