xs
xsm
sm
md
lg

กฟผ.สั่งโรงไฟฟ้าใช้น้ำมันเดินเครื่องเต็มที่รับความต้องการใช้พุ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โรงไฟฟ้าราชบุรี
กฟผ.สั่งโรงไฟฟ้าพลังความร้อนที่ใช้น้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิงเดินเครื่องเต็มที่ หลังโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซฯ และโรงไฟฟ้าพลังน้ำผลิตได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการ จับตาค่าไฟฟ้าพุ่งปรี๊ด รมว.พลังงานแย้มแผนพีดีพีระยะยาวปรับปรุงใหม่ กฟผ.อาจไม่ได้คงกำลังการผลิตที่ 50% ของความต้องการใช้ไฟแล้ว เหตุเอกชนมีความคล่องตัวและต้นทุนการผลิตต่ำกว่า

นายนพพล มิลินทางกูร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร้อนร่วมที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงรวมทั้งโรงไฟฟ้าพลังน้ำมีกำลังการผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าในช่วงที่อากาศร้อนจัดนี้ ทำให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้สั่งให้เดินเครื่องโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนในหลายโรง รวมทั้งโรงไฟฟ้าพลังความร้อนของบริษัททั้ง 2 ยูนิตที่ใช้น้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิง รวม 1,470 เมกะวัตต์ เพื่อผลิตไฟฟ้าให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟที่ปรับตัวสูงขึ้นจนทำให้เกิดการใช้ไฟฟ้าสูงสุด หรือพีกหลายรอบในเดือนนี้

ทั้งนี้ กาเรดินเครื่องโรงไฟฟ้าพลังความร้อนที่ใช้น้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิงจะมีผลทำให้ค่าไฟฟ้าปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งโรงไฟฟ้าพลังความร้อนทั้ง 2 ยูนิตของบริษัทฯ เดินเครื่องมาตั้งแต่วันที่ 8 เมษายนที่ผ่านมา หลังจากพม่าหยุดจ่ายก๊าซฯ ชั่วคราวเพื่อปิดซ่อมบำรุงจนปัจจุบันพม่าส่งก๊าซฯ ตามปกติ แต่โรงไฟฟ้าดังกล่าวก็ยังเดินเครื่องเต็มที่อยู่

นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ รมว.พลังงาน กล่าวว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดจะเกิดขึ้นอีกใน 1-2 วันนี้ เนื่องจากเป็นวันที่มีอุณหภูมิสูงสุด จากการตรวจสอบสำรองไฟฟ้าพบว่ามีอย่างเพียงพอ แต่ที่น่ากังวลคือ ใช้ไฟฟ้ามากค่าไฟฟ้าของประชาชนจะต้องจ่ายเพิ่มด้วย โดยกระทรวงพลังงานกำลังทำแผนรณรงค์การประหยัดพลังงานอย่างต่อเนื่อง ทั้งไฟฟ้าและน้ำมัน เพื่อหวังลดผลกระทบ

นอกจากนี้ ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน คาดว่าจะจัดประชุมได้ในเดือนพฤษภาคมนี้ โดยจะนำเรื่องเข้าสู่วาระการประชุม คือ การปรับโครงสร้างราคาเอ็นจีวี ซึ่งกระทรวงพลังงานจะได้ข้อสรุปเดือนนี้ การปรับปรุงแผนพัฒนากำลังไฟฟ้าระยะยาว (พีดีพี) 20 ปี และการปรับปรุงอัตราการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ จากเดิมเป็นการให้ค่า ADDER ในอัตรา 8 บาทต่อหน่วย เป็นระบบ feed in tarrif โดยจากรายงานเบื้องต้นอัตราที่เสนอมาคือ 5.94 บาทต่อหน่วย เป็นเวลา 20 ปี ซึ่งขอยืนยันว่ารัฐบาลส่งเสริมพลังงานทดแทนอย่างจริงจัง แต่ไม่ต้องการเห็นการสร้างภาระที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อค่าไฟฟ้าด้วย

ส่วนแผนพีดีพีที่จะปรับปรุงใหม่นั้น กฟผ.อาจจะไม่สามารถคงกำลังการผลิตได้ตามเป้าหมายเดิมที่จะให้สร้างโรงไฟฟ้าในสัดส่วนร้อยละ 50 ของกำลังการผลิตของประเทศ เนื่องจากจะต้องดูประสิทธิภาพการแข่งขันด้านการผลิต ซึ่งเอกชนคล่องตัวและต้นทุนต่ำกว่า ขณะที่กฟผ.ยังติดขัดกฎระเบียบหลายด้าน
กำลังโหลดความคิดเห็น