น่าน - ชาวบ้านสองแคว-ดู่ใต้ พึ่งกรรมสิทธิฯ ตรวจสอบ กฟผ.ละเมิด พาดสายส่งไฟฟ้า 500 กิโลวัตต์จาก “หงสาลิกไนต์” ผ่านชายแดนน่านถึงแม่เมาะ ตั้งธงตรวจ 3 ปมใหญ่ ก่อนขอดูผลกระทบโครงการเหมืองลิกไนต์-โรงไฟฟ้าฝั่งลาวต่อ ชี้ภายใต้เป้าหมายความร่วมมือประชาคมอาเซียน ประเทศภาคีต้องไม่สร้างผลกระทบต่อชุมชนในอาเซียน
นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานอนุกรรมการสิทธิชุมชนป่าและที่ดิน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมคณะ ลงพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบจากการการดำเนินงานของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ได้ออกสำรวจและเวนคืนที่ดิน ก่อสร้างแนวสายส่งและสถานีไฟฟ้าย่อยเพื่อรองรับไฟฟ้าจากโครงการหงสาลิกไนต์ ในพื้นที่ตำบลชนแดน ตำบลยอด ตำบลนาไร่หลวง อำเภอสองแคว จ.น่าน โดยพื้นที่ส่วนใหญ่ไม่มีเอกสารสิทธิ แต่เป็นพื้นที่ชุมชนดั้งเดิม และพื้นที่ตำบลดู่ใต้ อ.เมืองน่าน รวมทั้งหมด 230 แปลง
ชาวบ้านได้พยายามคัดค้านโครงการดังกล่าวอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม 2554 ที่ผ่านมา โดยล่าสุดตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบได้ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ขอให้มีการตรวจสอบการละเมิดสิทธิที่ชาวบ้านได้รับผลกระทบจากโครงการดังกล่าว และเรียกร้องให้ กฟผ.เปิดเผยข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับโครงการหงสาลิกไนต์ แนวสายส่งรวมถึงสถานีไฟฟ้าย่อย ให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบได้รับทราบข้อมูลที่แท้จริง เพื่อจะใช้ในการตัดสินใจที่จะยอมให้มีการดำเนินโครงการต่อในพื้นที่หรือไม่
นายวิจิตร จิตรวงศ์นันท์ ประธานกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการแนวสายส่งไฟฟ้าอำเภอสองแคว กล่าวว่า โครงการดังกล่าวจะสร้างผลกระทบหลายด้าน ทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อมที่จะส่งผลต่อพื้นที่ป่าและต้นน้ำ กระทบเป็นลูกโซ่ไปจนถึงคนท้ายน้ำ กระทบต่อสุขภาพและวิถีชีวิตของชุมชน
ที่ผ่านมามีการเคลื่อนไหวคัดค้านการก่อสร้างแนวสายส่ง รวมไปถึงกรณีชาวบ้านที่ไม่รู้ข้อกฎหมายและถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐข่มขู่เรียกคืนที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิว่า หากไม่ยอมเวนคืนให้กับทาง กฟผ. ก็จะต้องคืนที่ดินให้กับป่าไม้อยู่ดี โดยไม่ได้รับการชดเชย จนทำให้ชาวบ้านต้องยินยอมให้เวนคืนที่ดินอย่างไม่เป็นธรรม
ด้าน นายเจต เสารางทอย นายก อบต.ชนแดน กล่าวว่า ขณะนี้เกิดความขัดแย้งชัดเจนและรุนแรงในพื้นที่ ที่ได้รับผลกระทบ โดยชาวบ้านที่ถูกเวนคืนที่ดินและถูกรอนสิทธิ์ บางส่วนได้รับการสนับสนุน ช่วยเหลือกิจกรรมต่างๆเป็นรายบุคคลจาก กฟผ. เพื่อให้ยินยอมเวนคืนที่ดินและการดำเนินโครงการในพื้นที่ ทำให้กลุ่มที่คัดค้านถูกต่อต้านและคุกคาม สร้างความขัดแย้งแตกแยกของชุมชน
ขณะที่ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานอนุกรรมการสิทธิชุมชนป่าและที่ดินฯ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่เพื่อรับฟังข้อมูลและข้อเท็จจริงเพื่อกระบวนการตรวจสอบ พบว่าทั้งสองพื้นที่มีข้อมูลสอดคล้องกัน คือ เรื่องการก่อสร้างแนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง และเรื่องของเหมือง ซึ่งตั้งอยู่ในสปป.ลาว ห่างจากจังหวัดน่าน ระยะใกล้สุด 30 กิโลเมตร ไกลสุด 70 กิโลเมตร โดยชาวบ้านกังวลถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ซึ่งเหมืองนี้เป็นการลงทุนโดยนักธุรกิจไทย จึงขอให้ทางคณะกรรมการสิทธิฯ เข้าตรวจสอบกระบวนการทำงาน ว่าอยู่บนพื้นฐานการให้ความคุ้มครองเรื่องสิทธิมนุษยชนกับชาวจังหวัดน่านหรือไม่ อย่างไร
ในฐานะกรรมการสิทธิฯ ได้ยึดหลักเกณฑ์สิทธิมนุษยชนตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญ 3 ประเด็นคือ ประเด็นเรื่องสิทธิชาวบ้านในการมีส่วนร่วม และการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบ ซึ่งทราบว่า ชาวบ้านไม่เคยได้รับรู้ข้อมูลตั้งแต่เริ่มโครงการ ปี 2551-2552 กระทั่งปี 53 จึงทราบว่าจะมีโครงการก่อสร้างเสาไฟฟ้าแรงสูง ซึ่งชาวบ้านวิตกกังวลว่าจะมีผลกระทบต่อภาคการเกษตร ด้านสิ่งแวดล้อม คุณภาพและสุขภาพ รวมถึงวิถีชีวิตที่จะต้องเปลี่ยนไป
นพ.นิรันดร์บอกว่า ประเด็นเหล่านี้เมื่อไม่มีความชัดเจน ก็ต้องลงไปตรวจสอบว่า กระบวนการทำงานของ กฟผ.ได้ละเมิดสิทธิต่อชาวบ้านในเรื่องการมีส่วนร่วมและการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบที่จะต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างแท้จริงหรือไม่
ประเด็นที่ 2 คือ ชาวบ้านมีความวิตกกังวลว่าพื้นที่ต้นน้ำ ซึ่งอยู่ติดชายแดนระหว่างน่าน- สปป.ลาว จะได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งต้องมีการตรวจสอบความชัดเจน ถึงการอนุมัติโครงการต้องผ่านหลักเกณฑ์ที่ถูกต้อง
ส่วนประเด็นที่ 3 คือ การตั้งสถานีไฟฟ้าย่อยในพื้นที่ตำบลดู่ใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่เชิงเขา และเป็นพื้นที่แก้มลิงรับน้ำ การถมพื้นที่ดังกล่าว ก็จะมีผลกระทบต่อปัญหาอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดน่าน และวิถีชีวิตของชุมชน ซึ่งมีกว่า 400-500 หลังคาเรือน ถึงแม้ว่า กฟผ.ได้ซื้อที่ดินเหล่านั้นแล้วก็ตาม ก็ต้องตรวจสอบผลกระทบที่มีต่อชุมชน และอีกประเด็นคือเรื่อง เหมืองของโครงการหงสาลิกไนต์ ที่คณะกรรมการสิทธิฯ ต้องตรวจสอบการลงทุนของนักธุรกิจไทย
“เมื่อเรากำลังเข้าสู่ประชาคมอาเซียน 2015 ฉะนั้นแนวคิดในการทำงานของกลุ่มประเทศอาเซียน จะต้องมีแนวคิดตรงกันในเรื่องการจัดการทรัพยากรสิ่งแวดล้อม ที่เป็นเรื่องของโครงการพัฒนาต่างๆ จะต้องไม่กระทบต่อประชาชนชาวอาเซียน จึงจำเป็นต้องลงไปศึกษาหลักเกณฑ์เรื่องการมีส่วนร่วม การศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบ ที่จะทำให้เกิดความเสมอภาค และเกิดประโยชน์ต่อประชาชนชาวอาเซียน ซึ่งคณะกรรมการสิทธิฯ ก็ต้องลงไปตรวจสอบภาคเอกชนที่ไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิชุมชน หรือเกิดความไม่เสมอภาคจากการพัฒนาของโครงการต่างๆ เหล่านั้นด้วย”
สำหรับโครงการระบบโครงข่ายไฟฟ้า 500 กิโลโวลต์ ที่จะรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังความร้อนหงสาลิกไนต์ สปป.ลาว ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีโครงการก่อสร้างระบบสายส่ง เพื่อรับซื้อไฟฟ้าประมาณ 1,473 เมกะวัตต์ และได้รับอนุมัติตามมติ ครม.13 ก.ค.53 และมีแผนที่จะนำไฟฟ้าเข้าสู่ระบบในปี 2558 โดยทาง กฟผ.ต้องก่อสร้างระบบส่งไฟฟ้า 500 กิโลโวลต์ จากชายแดน ในเส้นทางพื้นที่ป่าชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ 1B ตำบลชนแดน อำเภอสองแคว จังหวัดน่าน ผ่านจังหวัดแพร่และเข้าสู่สถานีไฟฟ้าแรงสูงแม่เมาะ 3 จ.ลำปาง ระยะทาง 270 กิโลเมตร
ทั้งนี้ เนื่องจากระบบโครงข่ายไฟฟ้า 500 กิโลโวลต์ มีแนวสายบางส่วนพาดผ่านพื้นที่ป่าอนุรักษ์เพิ่มเติมจำนวน 23 ช่วง อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ 9 ป่าระยะทาง 42 กิโลเมตร ซึ่งการดำเนินงานพื้นที่ดังกล่าวจะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ดังนั้น กฟผ.จึงได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นผู้ศึกษาและจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น ประกอบด้วยทรัพยากรทางกายภาพ ,ทรัพยากรทางชีวภาพ คุณค่าการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ และคุณค่าต่อคุณภาพชีวิต รวมถึงการดำเนินงานด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน