รอยเตอร์ (ย่างกุ้ง) -- รัฐบาลพม่าได้ตัดสินใจยุติการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนจากถ่านหินขนาด 4,000 เมกะวัตต์ ที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย (Dawei Special Industrial Zone) ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาโครงการหนึ่งโดยบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) รัฐมนตรีพม่ากล่าว
“เราได้ตัดสินใจยุติโครงการนี้หลังจากได้อ่านเกี่ยวกับความวิตกกังวลด้านสภาพแวดล้อมจากโรงไฟฟ้าดังกล่าวในสื่อท้องถิ่น” นายคินหม่องโซ (Khin Maung Soe) ซึ่งเป็นรัฐมนตรีด้านการพลังงานคนหนึ่งของพม่า บอกกับผู้สื่อข่าวระหว่างบรรยายสรุปในกรุงย่างกุ้งเมื่อวันจันทร์
รัฐบาลกำลังจะตัดสินใจเช่นเดียวกันว่า จะให้โรงไฟฟ้าขนาด 400 เมกะวัตต์อีกแห่งหนึ่งยุติหรือเดินหน้าต่อไป” นายหม่องโซ กล่าว
หุ้นของอิตาเลียน-ไทย ซึ่งเป็นบริษัทก่อสร้างขนาดใหญ่ที่สุดของไทย ตกลงราว 1% ในวันอังคารนี้ แต่ไต่กลับขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งเมื่อเวลา 11.00 น.ขณะที่ดัชนีรวมสูงขึ้น 0.5%
ในเดือนพฤศจิกายน บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ได้เซ็นความตกลงฉบับหนึ่งกับบริษัท อิตาเลียนไทย เพื่อก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนจากถ่านหินที่มีกำลังผลิตไฟฟ้ารวม 4,000 เมกะวัตต์ ที่ทวาย หุ้นของราชบุรีโฮลดิ้ง ไม่เคลื่อนไหว
ภายใต้ความตกลงดังกล่าวบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี จะเข้าถือหุ้น 30% ในโครงการ โดยอิตาเลียน-ไทย ถือ 70% ที่เหลือ
การลงทุนของบริษัทต่างชาติในพม่าถูกจำกัด โดยการคว่ำบาตรของชาติตะวันตก ที่กล่าวหาว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนภายใต้ระบอบทหาร แต่รัฐบาลพลเรือนในปัจจุบันได้เริ่มปฏิรูปทางการเมืองและเศรษฐกิจตั้งแต่ปีที่แล้ว และถ้าหากดำเนินต่อไปอีกขั้นตอนหนึ่ง รวมทั้งการปล่อยนักโทษการเมือง การคว่ำบาตรก็อาจผ่อนคลายลง
ในปัจจุบันบรรดาประเทศเอเชีย เช่น ไทย จีน และ อินเดีย ได้เป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ในประเทศนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแขนงทรัพยากร
โครงการท่าเรือทวายมีกำหนดดำเนินการใน 3 ขั้นตอน ระหว่างปี 2553-2562
เดือน ก.ย.ที่แล้ว รัฐบาลพม่าได้ยอมอ่อนข้อให้แก่ความโกรธเคืองของสาธารณชน และยกเลิกโครงกรก่อสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่มูลค่า 3.6 พันล้านดอลลาร์ อันเป็นโครงการสัมปทานของบริษัทจีน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่อาจจะคาดหวังได้ภายใต้รัฐบาลทหารก่อนหน้านั้น
เขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ซึ่งมีเนื้อที่ 250 ตางรางกิโลเมตร รวมทั้งโรงกลั่นน้ำมัน โรงงานปิโตรเคมี กับท่าเรือตั้งอยู่ในเขตตะนาวศรี (Tanintharyi) ชายฝั่งมหาสมุทรอินเดียในภาคใต้ของพม่า ห่างจากกรุงเทพฯ เมืองหลวงของไทยไปทางทิศตะวันตก 350 กม.