xs
xsm
sm
md
lg

คณะกรรมการสิทธิฯ ตรวจสอบข้อคัดค้าน 2 โครงการพื้นที่น่าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตัวแทนบ้านปูเพาเวอร์
น่าน - คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติลงพื้นที่ตรวจสอบข้อร้องเรียนการคัดค้านโครงการแนวส่งสายไฟฟ้าแรงสูง และโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำยาว อำเภอปัว

นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานอนุกรรมการสิทธิชุมชน ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมคณะอนุกรรมการฯ เปิดเวทีเชิญหน่วยงานและผู้ที่เกี่ยวข้องให้ข้อมูลและข้อเท็จจริง เพื่อตรวจสอบข้อร้องเรียนกรณีการคัดค้านโครงการแนวส่งสายไฟฟ้าแรงสูงที่อำเภอสองแคว จ.น่าน ซึ่งมีนายวิจิตร จิตรวงศ์นันท์ เป็นผู้ร้อง และตรวจสอบกรณีโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำยาว อำเภอปัว จังหวัดน่าน ซึ่งมีนายอินเล็ก คันทะลือ เป็นผู้ร้อง ณ ห้องประชุมโรงแรมเทวราช อ.เมืองน่าน

โดยเฉพาะการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการคัดค้านโครงการแนวส่งสายไฟฟ้าแรงสูงจากโครงการโรงไฟฟ้าหงสาลิกไนต์ที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนในหลายพื้นที่ และมีการร้องเรียนถึงขบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนที่ไม่ถูกต้องตามหลักการ

ทั้งนี้ มีตัวแทนทั้งจากภาคประชาชน หน่วยงานภาครัฐ ตัวแทนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ตัวแทนคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ตัวแทนบริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน), บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด, บริษัทหงสาพาวเวอร์ เข้าร่วมให้ข้อเท็จจริงเพื่อการตรวจสอบกว่า 50 คน

ในโอกาสนี้ นายวิษณุ นาควิโรจน์ ผู้ประสานงานเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ จ.ลำปาง ยังได้เดินทางมาร่วมให้ข้อเท็จจริงถึงผลกระทบจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ และได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานอนุกรรมการสิทธิชุมชน เพื่อขอให้คณะอนุกรรมการสิทธิฯ เข้าตรวจสอบการทำงานของคณะกรรมการกองทุนพัฒนาไฟฟ้าด้วย

นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานอนุกรรมการสิทธิชุมชน กล่าวว่า เป็นการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยเฉพาะเรื่องขบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ต้องเป็นไปตามหลักกฎหมาย-รัฐธรรมนูญ จากกรณีการคัดค้านโครงการแนวส่งสายไฟฟ้าแรงสูงตามโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าหงสาฯ ซึ่งจะต้องมีการวางแนวส่งสายไฟฟ้าพาดผ่านในพื้นที่ตำบลชนแดน ตำบลยอด และตำบลนาไร่หลวง อำเภอสองแคว และพื้นที่ชุมชนบ้านดู่ใต้ ตำบลดู่ใต้ อำเภอเมืองน่าน

นอกจากจะตรวจสอบผลกระทบที่มีโดยตรงต่อผู้ที่ถูกรอนสิทธิแล้ว ขณะนี้ยังพบว่าโครงการดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อภาพรวมของคนจังหวัดน่านทั้งจังหวัด ซึ่งต้องดูทั้งระบบโครงการว่ามีความเป็นมาและที่ไปที่มาอย่างไร ต้องดูตั้งแต่ตัวโครงการไฟฟ้าหงสา ไล่เรียงลงมาจนถึงโครงการแนวสายส่งไฟฟ้าฯ ที่สำคัญต้องดูเรื่องของขบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน

ในฐานะกรรมการสิทธิฯ ได้ยึดหลักเกณฑ์สิทธิมนุษยชนตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญ 3 ประเด็น คือ ประเด็นเรื่องสิทธิชาวบ้านในการมีส่วนร่วม และการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบ ซึ่งจากการรับฟังข้อมูลจากชาวบ้าน ทำให้ทราบว่าชาวบ้านไม่เคยได้รับรู้ข้อมูลตั้งแต่เริ่มโครงการ ปี 2551-2552 ต่อเนื่องถึงปี 2553 จึงได้ทราบว่าจะมีโครงการก่อสร้างเสาไฟฟ้าแรงสูง ซึ่งชาวบ้านวิตกกังวลว่าจะมีผลกระทบต่อภาคการเกษตร ด้านสิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิตและสุขภาพ รวมถึงวิถีชีวิตที่จะต้องเปลี่ยนไป

ประเด็นเหล่านี้เมื่อไม่มีความชัดเจน ก็ต้องลงไปตรวจสอบว่ากระบวนการทำงานของ กฟผ.ได้ละเมิดสิทธิชาวบ้านในเรื่องการมีส่วนร่วมและการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบที่จะต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างแท้จริงหรือไม่

ประเด็นที่สองคือ ชาวบ้านมีความวิตกกังวลว่าพื้นที่ต้นน้ำซึ่งอยู่ติดชายแดนระหว่างน่าน-สปป.ลาว จะได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งต้องมีการตรวจสอบความชัดเจนถึงการอนุมัติโครงการต้องผ่านหลักเกณฑ์ที่ถูกต้อง

ส่วนประเด็นที่สามคือ การตั้งสถานีไฟฟ้าย่อยในพื้นที่ตำบลดู่ใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่เชิงเขา และเป็นพื้นที่แก้มลิงรับน้ำ การถมพื้นที่ดังกล่าวก็จะมีผลกระทบต่อปัญหาอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดน่าน และวิถีชีวิตของชุมชน ซึ่งมีกว่า 400-500 หลังคาเรือน ถึงแม้ว่า กฟผ.ได้ซื้อที่ดินเหล่านั้นแล้วก็ตามก็ต้องตรวจสอบผลกระทบที่มีต่อชุมชนด้วย

อีกประเด็นคือเรื่อง เหมืองของโครงการหงสาลิกไนต์ ที่คณะกรรมการสิทธิฯ ต้องตรวจสอบการลงทุนของนักธุรกิจไทย เมื่อเรากำลังเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2015 ฉะนั้นแนวคิดในการทำงานของกลุ่มประเทศอาเซียน จะต้องมีแนวคิดตรงกันในเรื่องการจัดการทรัพยากรสิ่งแวดล้อม ที่เป็นเรื่องของโครงการพัฒนาต่างๆ จะต้องไม่กระทบต่อประชาชนชาวอาเซียน จึงจำเป็นต้องลงไปศึกษาหลักเกณฑ์เรื่องการมีส่วนร่วม การศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบ ที่จะทำให้เกิดความเสมอภาค และเกิดประโยชน์ต่อประชาชนชาวอาเซียน

คณะกรรมการสิทธิฯ ต้องลงไปตรวจสอบภาคเอกชนที่ไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิชุมชน หรือเกิดความไม่เสมอภาคจากการพัฒนาของโครงการต่างๆ เหล่านั้นด้วย

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ ได้สั่งให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และผู้เกี่ยวข้องได้ส่งเอกสารกระบวนการทุกขั้นตอน โดยเฉพาะการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ โดยเชื่อว่าอาจผิดขั้นตอน ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ เพราะการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ยึดกฎหมายด้านพลังงานเป็นหลักโดยไม่สนใจประเด็นสิทธิชุมชน สิทธิมนุษยชนตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญกว่ากฎหมายอื่นๆ

สำหรับโครงการระบบโครงข่ายไฟฟ้า 500 กิโลโวลต์ที่จะรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังความร้อนหงสาลิกไนต์ สปป.ลาว ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีโครงการก่อสร้างระบบสายส่งเพื่อรับซื้อไฟฟ้าประมาณ 1,473 เมกะวัตต์ โดยเป็นโครงการที่รับอนุมัติจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2553 และมีแผนที่จะนำไฟฟ้าเข้าสู่ระบบในปี พ.ศ. 2558 โดยทาง กฟผ.ต้องก่อสร้างระบบส่งไฟฟ้า 500 กิโลโวลต์จากชายแดนในเส้นทางพื้นที่ป่าชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ 1B ตำบลชนแดน อำเภอสองแคว จังหวัดน่าน ผ่านจังหวัดแพร่และเข้าสู่สถานีไฟฟ้าแรงสูงแม่เมาะ 3 จ.ลำปาง ระยะทาง 270 กิโลเมตร และเนื่องจากระบบโครงข่ายไฟฟ้า 500 กิโลโวลต์มีแนวสายบางส่วนพาดผ่านพื้นที่ป่าอนุรักษ์เพิ่มเติมจำนวน 23 ช่วง อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ 9 ป่า ระยะทาง 42 กิโลเมตร

การดำเนินงานพื้นที่ดังกล่าวจะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ดังนั้น กฟผ.จึงได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นผู้ศึกษาและจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น ซึ่งประกอบด้วย ทรัพยากรทางกายภาพ, ทรัพยากรทางชีวภาพ คุณค่าการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ และคุณค่าต่อคุณภาพชีวิต รวมถึงการดำเนินงานด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน
คณะกรรมการสิทธิฯตรวจสอบข้อคัดค้าน 2 โครงการพื้นที่น่าน
คณะกรรมการสิทธิฯตรวจสอบข้อคัดค้าน 2 โครงการพื้นที่น่าน
กำลังโหลดความคิดเห็น