xs
xsm
sm
md
lg

โพลชี้ ศก.ไทยฟื้นตัวแต่ยังอ่อนแอ ภาคครัวเรือนอ่วม-ค่าใช้จ่ายกระฉูด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กรุงเทพโพลล์ชี้ ศก.ไทยฟื้นตัวแต่ยังอ่อนแอ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ต่ำกว่าระดับ 50 พร้อมคาดในอีก 3-6 เดือนข้างหน้ามีโอกาสสดใสได้ ขณะที่ปัจจัยการบริโภคภาคเอกชนเป็นปัจจัยที่มีบทบาทต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจน้อยที่สุด “เอแบคโพลล์” ระบุ “ภาคครัวเรือน” โดนอ่วม “พ่อแม่-ผู้ปกครอง” เตรียมกระเป๋าฉีกแบกค่าใช้จ่ายกระฉูด ทั้งเสื้อผ้านักเรียน ค่าอาหาร ค่าเดินทาง และตำราเรียน ขยับขึ้นราคา

ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) เปิดเผยผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์จากองค์กรชั้นนำ 26 แห่ง จำนวน 60 คน เรื่อง “ดัชนีความเชื่อมั่นนักเศรษฐศาสตร์ต่อเศรษฐกิจไทยใน 3-6 เดือนข้างหน้า” โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 20-25 เมษายน 2555 ที่ผ่านมา โดยพบว่าดัชนีความเชื่อมั่นนักเศรษฐศาสตร์ต่อสถานะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 47.31 ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่า 50 หมายความว่านักเศรษฐศาสตร์เชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันยังอยู่ในสถานะอ่อนแอ

อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับการสำรวจในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2555 พบว่าสถานะทางเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น โดยเพิ่มขึ้น 18.90 จุด และเป็นการปรับขึ้นในทุกปัจจัยขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะปัจจัยการท่องเที่ยงจากต่างประเทศและปัจจัยการลงทุนภาคเอกชนที่ได้รับผลดีจากการเข้าสู่ช่วงขาขึ้น (high season) ของการท่องเที่ยวและการลงทุนของภาคเอกชนเพื่อการฟื้นฟูกิจการหลังน้ำท่วมใหญ่ตามลำดับ

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นนักเศรษฐศาสตร์ต่อเศรษฐกิจไทยในอีก 3 เดือนข้างหน้า พบว่าค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ อยู่ในระดับ 62.44 และเมื่อมองออกไปในอีก 6 เดือนข้างหน้าค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ก็ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 68.24 ซึ่งค่าดัชนีฯ ที่ระดับดังกล่าวอยู่ในระดับที่สูงกว่า 50 หมายความว่านักเศรษฐศาสตร์มีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยในอีก 3-6 เดือนข้างหน้าจะปรับตัวดีขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับปัจจุบัน

โดยปัจจัยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญใน 3-6 เดือนข้างหน้าคือ การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ การส่งออกสินค้า และการท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ขณะที่ปัจจัยการบริโภคภาคเอกชนเป็นปัจจัยที่มีบทบาทต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับปัจจัยด้านอื่น

ด้านนางสาวปุณฑรีก์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์วิจัยธุรกิจ สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจเรื่อง ความกังวลรับเปิดเทอมของกลุ่มพ่อแม่ผู้ปกครองว่าด้วยการเตรียมค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของบุตรหลานเทอมแรกของปีการศึกษา 2555 กรณีศึกษาตัวอย่างในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,214 ตัวอย่าง ค่าความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7 ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 17-25 เมษายน 2555 ที่ผ่านมา

โดยผลสำรวจดังกล่าวพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 69.4 กังวลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายของบุตรหลานช่วงเปิดเทอมนี้ และที่น่าเป็นห่วงคือ กลุ่มตัวอย่างพ่อแม่ผู้ปกครองมีเรื่องที่กังวลเกี่ยวกับบุตรหลานอันดับแรกหรือร้อยละ 51.1 ระบุเป็นปัญหาการคบเพื่อน รองลงมาอันดับที่สองได้แก่ร้อยละ 50.3 ระบุเป็นปัญหายาเสพติด และอันดับสามหรือร้อยละ 47.8 ระบุค่าใช้จ่ายทางการศึกษา ในขณะที่รองๆ ลงไปคือ ปัญหาการมั่วสุมของเด็กๆ ปัญหาการใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือย ปัญหาการจราจร ปัญหาคุณภาพการศึกษาไม่ได้มาตรฐาน และปัญหาการปรับตัวของบุตรหลาน ตามลำดับ

ประเด็นที่น่าพิจารณา คือ กลุ่มพ่อแม่ผู้ปกครองกำลังกระเป๋าฉีกรับเปิดเทอม เตรียมเงินด้านการศึกษาไว้ให้ลูกหลาน เช่น ค่าเทอม ค่าเล่าเรียน ค่าเรียนพิเศษ และเงินแปะเจี๊ยะ โดยเฉลี่ยกว่า 4 หมื่นบาท โดยกลุ่มพ่อแม่ผู้ปกครองเด็กนักเรียนภาคเอกชนเตรียมเงินไว้เฉลี่ย 5 หมื่นบาท ซึ่งมากกว่ากลุ่มผู้ปกครองที่ต้องเตรียมเงินไว้สำหรับลูกหลานในสถาบันการศึกษาภาครัฐประมาณ 3.5 หมื่นบาท ตามลำดับ

นอกจากนี้ สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ผลวิจัยเชิงคุณภาพได้พบว่าผู้ปกครองบางรายที่ต้องการให้ลูกหลานเข้าโรงเรียนแห่งใหม่ ต้องจ่ายเงินให้โรงเรียนเพื่อผลักดันให้ลูกหลานได้เข้าเรียนด้วยวงเงินสูงสุดกว่าสี่แสนบาทเลยทีเดียว และมองว่านโยบายเรียนฟรี 15 ปีช่วยแบ่งเบาภาระได้บ้าง แต่ไม่ได้มากนัก

ผลสำรวจยังพบด้วยว่า หมวดค่าใช้จ่ายสำหรับเทอมแรกของปีการศึกษา 2555 ให้แก่บุตรหลานที่มีสัดส่วนสูงที่สุดได้แก่ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 77.8 ระบุเป็นค่าเครื่องแต่งกายชุดนักเรียน นักศึกษา รองลงมาคือร้อยละ 77.3 ระบุเป็นค่าอาหาร ค่าเดินทาง และร้อยละ 68.0 ระบุเป็นค่าอุปกรณ์การเรียน ตำราเรียน และรองๆ ลงไปคือ ค่าเทอม ค่าเล่าเรียน ค่ากิจกรรมเสริมหลักสูตร ค่าบำรุงโรงเรียน หรือแปะเจี๊ยะ และค่าหอพัก ตามลำดับ

โดยจากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่างพบว่า ร้อยละ 54.3 เป็นเพศหญิง ร้อยละ 45.7 เป็นเพศชาย ทั้งนี้เมื่อพิจารณาจำแนกตามช่วงอายุพบว่า ร้อยละ 30.3 ระบุอายุ 30-39 ปี ร้อยละ 30.8 ระบุอายุ 40-49 ปี ร้อยละ 22.3 ระบุอายุ 50-59 ปี และร้อยละ 16.6 ระบุอายุ 60 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 68.5 ระบุสำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 30.4 ระบุสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป

นอกจากนี้ ร้อยละ 38.7 ระบุอาชีพค้าขายอิสระ-ส่วนตัว ร้อยละ 20.6 ผู้ใช้แรงงาน-รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 14.9 พนักงานบริษัท ร้อยละ 8.0 ผู้ประกอบการ-เจ้าของกิจการ ร้อยละ 6.0 ข้าราชการรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 5.9 ลูกจ้าโรงงาน-สถานประกอบการ ร้อยละ 3.1 ว่างงาน และร้อยละ 2.8 ระบุอื่นๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น