xs
xsm
sm
md
lg

“สุชาติ” ไม่เชื่อ โรงเรียนใดกล้าเรียกรับแปะเจี๊ยะ ท้าหากมีข้อมูลชัด ก็พร้อมจะลงโทษ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รมว.ศธ.
“สุชาติ” ไม่เชื่อ มี ผอ.โรงเรียนใดกล้าเรียกรับแปะเจี๊ยะ เพราะเป็นการทำผิดวินัยและกฎหมาย ท้าใครมีข้อมูลส่งให้ก็พร้อมจะลงโทษ ด้านเลขาธิการ กอศ.เตรียมพร้อมบรรเทาความเดือดร้อน นร.-นศ.-อาชีวะ

ศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวถึงกรณี ที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลงผลการสำรวจถึงผลกระทบของผู้ปกครองในช่วงเปิดเทอม โดยระบุว่า ราคาชุดนักเรียน หนังสือแบบเรียนมีราคาแพง และค่าบำรุงโรงเรียนแพงขึ้น ว่า ศธ.เห็นถึงความลำบากของผู้ปกครอง แต่สำหรับปีนี้ ศธ.ได้จัดสรรงบประมาณสำหรับซื้อชุดนักเรียนให้ผู้ปกครองไปแล้ว ซึ่งหากไม่เพียงพอ ผู้ปกครองอาจจะต้องจ่ายส่วนต่างเองบ้าง แต่ปีการศึกษาหน้า สัญญาว่า จะพยายามจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมให้เพียงพอ ส่วนผลโพลที่ระบุว่า ผู้ปกครองต้องจ่ายค่าแปะเจี๊ยะ ด้วยนั้น ตนไม่เชื่อว่า จะมีสถานศึกษาในสังกัด ศธ. กล้าเรียกรับเงินแปะเจี๊ยะ ตนอยากให้เอาข้อเท็จจริงมาพูดกัน ไม่ใช่พูดต่อๆ กันไปแบบนี้ ซึ่งทำให้เกิดความเสียหาย บางทีผู้ปกครองอาจถูกขอร้องจากสมาคมผู้ปกครอง หรือ ร.ร.ให้ช่วยบริจาคเงินให้กับ ร.ร.เพื่อนำไปก่อสร้างอาคาร หรือพัฒนาโรงเรียน เพราะงบที่โรงเรียนได้รับนั้นไม่เพียงพอที่จะนำมาพัฒนา ร.ร.ให้มีมาตรฐานสูงขึ้น แต่คนส่วนใหญ่มักไปเรียกตรงนี้ว่า เป็นการเรียกแปะเจี๊ยะ

“สำหรับผมแล้ว แปะเจี๊ยะ คือ การคอร์รัปชัน ที่เรียกรับเงินเข้ากระเป๋าตัวเอง ซึ่งผมไม่คิดว่าจะมี ผอ.ร.ร.คนไหนกล้าทำ มันไม่คุ้มกัน ถ้าเขาจะเรียกเงินใต้โต๊ะแค่แสนสองแสน เงินเดือน ผอ.ร.ร.ก็ปาเข้าไปกว่า 50,000 บาทแล้ว ผมว่า มันเป็นการพูดกันจนชิน แต่ถ้าต้องเสียเงินเป็นแสน เพื่อให้ลูกเข้า ร.ร.ดังจริง ผมว่าส่งลูกเข้า ร.ร.นานาชาติ ดีกว่า อย่างไรก็ตาม หากใครมีข้อมูลเรียกรับแปะเจี๊ยะให้แจ้งเข้ามาเลย ผมพร้อมจะดำเนินการอย่างเด็ดขาด ทั้งทางวินัย และทางกฎหมาย เพราะคอร์รัปชัน ถือว่า ผิดกฎหมาย” รมว.ศธ.กล่าว

ด้าน นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (เลขาธิการ กอศ.) กล่าวถึงผลโพลที่ระบุว่า นักเรียน นักศึกษา ได้รับผลกระทบ เนื่องจากชุดนักเรียน นักศึกษาปรับขึ้นราคา ว่า ขณะนี้ทางสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กำลังทำวิจัยว่าค่าใช้จ่ายรายหัวของนักเรียนอาชีวะคืออะไร โดยจะทำการวิจัยทั้ง 5 รายการ คือ ค่าเล่าเรียน ค่าเครื่องแบบ ค่าตำราเรียน ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่ากิจกรรมพัฒนาผู้เรียน อย่างไรก็ตาม ค่าอุปกรณ์การเรียนของสายอาชีวศึกษาสูงกว่าสายสามัญอยู่แล้ว ดังนั้น นักเรียนอาชีวะจึงต้องจ่ายเงินตัวเองซื้อเครื่อมือช่างในการฝึก รวมถึงค่าชุดเครื่องแบบ ซึ่งปัจจุบัน สอศ.อุดหนุนให้เป็นค่าชุดนักเรียนปีละ 2 ชุด เป็นเงิน 900 บาท แต่นักเรียนอาชีวะจำเป็นต้องมีชุดฝึกปฏิบัติการด้วย ดังนั้น จึงไม่เพียงพอ ส่วนค่ากิจกรรมทาง สอศ.ก็มีโครงการช่วยเหลือให้อยู่แล้ว ส่วนค่าหนังสือเรียนนักเรียนอาชีวะต้องไปหาซื้อตามท้องตลาดใช้เอง

“งบประมาณปี 2556 สอศ.ก็ได้เพิ่มค่าอุปกรณ์ประจำตัวนักเรียนอาชีวะให้ ซึ่งเดิมไม่ได้ให้ในส่วนนี้ และก็อยากเพิ่มในส่วนค่าชุดนักเรียนให้ด้วย แต่ปีนี้ให้ไม่ทันแล้ว และที่เป็นปัญหาคือ ครูอาชีวะมีทั้งหมด 24,000 คน ซึ่งในส่วนนี้ทาง สอศ.จำเป็นต้องดึงงบอุดหนุนรายหัวมาใช้เพื่อไปจ้างครูถึง 8,000 คน จึงทำให้เงินที่จะนำไปอุดหนุนเด็กจึงมีน้อยลง และไม่ค่อยเพียงพอ” เลขาธิการ กอศ.กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น