โครงการคลินิกอุตสาหกรรมฉลุย หลังรุดลงพื้นที่เช็กผู้ประกอบการเริ่มกลับมาเดินเครื่องผลิตแล้ว 70% เอกชนยังผวาน้ำท่วมซ้ำ เล็งมองพื้นที่ภาคอื่นแทน ขณะที่ค่าแรง 300บาทต่อวันซ้ำเติมน้ำท่วม
นางบุญเจือ วงษ์เกษม ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาผู้ประกอบการ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือกสอ. เปิดเผยว่า กสอ.ได้ลงพื้นที่ติดตามการฟื้นฟูสถานประกอบการภายใต้โครงการคลินิกเพื่อการฟื้นฟูสถานประกอบการขนาดกลางและย่อมที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย 2 บริษัทได้แก่ บริษัทแปซิฟิค คอนเทนเนอร์ จำกัด และบริษัทเอส ที เอฟ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งได้รับการฟื้นฟูเชิงลึก 2 ด้าน คือ การฟื้นฟูกระบวนการผลิต และการฟื้นฟูกระบวนการธุรกิจ
นายปริญญา มานัสสถิตย์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท แปซิฟิค คอนทนเน่อร์แบ้ก จำกัด ผู้ผลิตกระสอบพลาสติกสานขนาดใหญ่และกระสอบบรรจุอาหาร ซึ่งตั้งอยู่ในเขตประกอบการอุตสาหกรรมนวนคร จ.ปทุมธานีที่ประสบภาวะน้ำท่วม กล่าวว่า บริษัทได้เข้าร่วมโครงการคลินิกอุตสาหกรรมของ กสอ. ล่าสุดได้ฟื้นฟูกิจการจนกลับสู่กระบวนการผลิตแล้วกว่า 70%และคาดว่าอีก 2 เดือนจะกลับสู่การผลิตเต็ม 100% โดยมีกำลังผลิต 1.5 แสนใบต่อเดือน
ทั้งนี้ บริษัทได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมคิดเป็นมูลค่า 200 ล้านบาททำให้ต้องลงทุนซ่อมเครื่องจักรเก่าและสั่งซื้อเครื่องจักรใหม่รวมมูลค่า 100 ล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการรองรับผลกระทบการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน ซึ่งส่งผลให้บริษัทมีต้นทุนด้านแรงงานเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 5% ดังนั้น เมื่อบริษัทกลับมาผลิตเต็มที่แล้วคาดว่าจะต้องเจรจากับลูกค้าที่จะต้องขอปรับราคาสินค้าเพิ่มแต่คงไม่เกิน 5%
อย่างไรก็ตาม บริษัทคาดหวังว่าการสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมถาวรของเขตประกอบการอุตฯนวนครกำลังดำเนินการอยู่ จะแล้วเสร็จตามแผนในเดือนสิงหาคม 55 นี้เพื่อรองรับฤดูน้ำหลากได้ทัน ขณะเดียวกันบริษัทกำลังมองการกระจายความเสี่ยงการลงทุนในระยะยาวที่จะขยายการลงทุนไปยังพื้นที่อื่นเพื่อลดความเสี่ยงจากโรงงานเดิม โดยขณะนี้มองพื้นที่ไปยังตะวันออก เช่น จ.ระยอง และภาคตะวันตกที่ จ.กาญจนบุรี และ จ.ตาก เนื่องจากบริษัทมีการใช้แรงงานค่อนข้างมากซึ่งโรงงานที่จะขยายคาดว่าจะลงทุนอีกไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทฯ มองว่าอุตสาหกรรมอาหารและเคมีภัณฑ์ซึ่งใช้สินค้าของบริษัทจะมีการเติบโตต่อเนื่อง
นายชูศักดิ์ ศรีเพ็ชรดานนท์ กรรมการผู้จัดการบริษัท เอส ที เอฟ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า บริษัทเป็นผู้ประกอบการขนาดกลางเล็กที่เข้าร่วมโครงการกับ กสอ. โดยเป็นผู้ผลิตเครื่องชั่ง ตวง วัด ซึ่งโรงงานได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม 100% จนต้องหยุดผลิตชั่วคราวคิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 2.5 ล้านบาท ขณะนี้บริษัทได้เริ่มกลับมาผลิตแล้ว 70% อย่างไรก็ตามการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นประมาณ 5% ขณะเดียวกันบริษัทยังมีปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่เป็นระดับช่างเชื่อม อย่างไรก็ตามบริษัทคาดหวังว่าน้ำจะไม่ท่วมซ้ำอีก