“เอสเอ็มอี” ยอมรับ การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท กระทบต่อต้นทุนดำเนินงานเพิ่มขึ้นถึง 40% แต่ไม่สามารถขึ้นราคาสินค้าได้ ยันการประกาศปรับในตอนนี้ไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม ฝากวอนรัฐเลื่อนขึ้นค่าจ้างใน 70 จังหวัดที่เหลือไปเป็นปี 2558 เพื่อให้ผู้ประกอบการได้มีเวลาหายใจ “บิ๊ก ส.อ.ท.” กระทุ้ง “แรงงาน” เร่งคลอด กม.ห้ามพรรคการเมืองนำเรื่องการปรับขึ้นค่าแรงเอาไปใช้หาเสียง
นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล เลขาธิการสมาคมส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท กระทบต่อผู้ประกอบการมาก ทำให้การดำเนินธุรกิจได้ยากลำบาก เพราะปรับขึ้นถึงร้อยละ 40 แต่ไม่สามารถปรับขึ้นราคาสินค้าได้
“ปัจจุบัน ผู้ประกอบการไทยยังคงได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา ต้นทุนการผลิตทุกด้านปรับขึ้นราคา และยังต้องแบกภาระผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม จึงมองว่า ขณะนี้ไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมที่จะมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน”
อย่างไรก็ตาม กฎหมายได้ประกาศให้ขึ้นค่าจ้างต่ำ 300 บาท ที่ได้นำร่องไปแล้วใน 7 จังหวัด คงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ แต่อยากจะขอเวลาให้อีก 70 จังหวัด ที่กำหนดให้ปรับขึ้นค่าแรงในวันที่ 1 มกราคม 2556 เอกชนอยากให้เลื่อนออกไปเป็นในปี 2558 เพื่อบรรเทาผลกระทบให้แก่ผู้ประกอบการ และให้ผู้ประกอบการได้มีเวลาปรับตัว
นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงผลสำรวจผลกระทบการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน ใน 11 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น โดยพบว่า ทำให้ต้นทุนรายอุตสาหกรรมปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.22 ภาคบริการปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.70 ธุรกิจโรงแรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 12
ธุรกิจขนส่งรถโดยสารเพิ่มขึ้นร้อยละ 10-15 ธุรกิจรถบรรทุกเพิ่มขึ้นร้อยละ 6-8 และก่อสร้างเพิ่มขึ้นร้อยละ 9-9.8 ซึ่งกระทบต่อผลกำไรของภาคอุตสาหกรรม และกำไรภาคการส่งออกที่น้อยลงไปอีก ประกอบกับปัจจุบัน ยังได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นวัตถุดิบ
อย่างไรก็ตาม ภาคอุตสาหกรรมต้องการให้กระทรวงแรงงาน ออกกฎหมายเพื่อกำหนดไม่ให้พรรคการเมือง นำเรื่องในการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำไปเป็นนโยบายหาเสียง เพราะกังวลว่า หากมีการเลือกตั้งในครั้งหน้าจะนำมาหาเสียงอีก