ส.อ.ท.เตรียมรวบรวมข้อมูลผลกระทบจากการขึ้นค่าแรง 300 บ. เสนอต่อรัฐบาลในอีก 1-2 สัปดาห์ข้างหน้า เพื่อให้มีมาตรการช่วยเหลือออกมาเพิ่มเติม ระบุนำร่องช่วยเหลือกลุ่มเอสเอ็มอีเป็นอันดับแรก อีกทั้ง ชงตั้งกองทุนเอสเอ็มอีให้เงินกู้ซอฟต์โลน นำไปเสริมสภาพคล่อง เติมศักยภาพรับค่าแรงเพิ่ม และเปิด AEC
นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ขณะนี้ ส.อ.ท. กำลังรวบรวมข้อมูลผลกระทบจากนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน เพื่อนำเสนอต่อรัฐบาล โดยต้องการหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องทั้งหมด มีมาตรการออกมาช่วยเหลือ และบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น เช่น การลดค่าธรรมเนียม ค่าใช้จ่ายต่างๆ การอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจ รวมถึงภาษีบางประเภท เป็นต้น โดยเฉพาะการช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี ซึ่งจะนำร่องให้เร่งช่วยเหลือก่อนในทุกสาขาธุรกิจและอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ คาดว่าจะรวบรวมข้อมูลเพื่อนำเสนอต่อรัฐบาลได้ภายใน 1-2 สัปดาห์ ส่วนมาตรการช่วยเหลือที่จะออกมานั้นจะให้มีผลในระยะเวลานานเท่าใดนั้น ต้องขอรอดูผลกระทบที่เกิดขึ้นจริงเสียก่อน ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือนจากนี้ จะเห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นจริงชัดเจน และหลังจากนั้น จะทบทวนหามาตรการมารองรับที่เหมาะสมต่อไป
ด้านนายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าว ผลกระทบจากนโยบายค่าแรง 300 บาท ซึ่งผู้ประกอบการระดับเอสเอ็มอีจะต้องแบกรับต้นทุนสูงขึ้น ดังนั้น ทางภาคเอกชนอยากให้รัฐบาลตั้งกองทุนช่วยเหลือเอสเอ็มอีวงเงินเบื้องต้น 1 หมื่นล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ MLR ลบ 2-3%
สำหรับกองทุนดังกล่าวจะใช้ เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีออกไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว พม่า กัมพูชา เวียดนาม ขณะเดียวกันสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ควรจะให้สิทธิประโยชน์พิเศษส่งเสริมผู้ประกอบการไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น
นอกจากนี้ เงินกองทุนดังกล่าว ควรส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถกู้เงินใช้ซื้อเครื่องจักร หรือซื้อเครื่องทุ่นแรง รวมถึงการพัฒนาด้านต่างๆ ในการฝึกอบรมแรงงาน เพื่อพัฒนาศักยภาพ รวมถึง เป็นการเตรียมพร้อมให้เอสเอ็มอีในประเทศปรับปรุงประสิทธิภาพให้อยู่รอด และรองรับการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ซึ่งหากเอสเอ็มอีไทยไม่สามารถปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงได้ เมื่อการเปิดเออีซีเกิดขึ้น เอสเอ็มอีไทยจะไม่สามารถแข่งขันได้ เนื่องจากต้นทุนการผลิตสูงกว่าคู่แข่ง