xs
xsm
sm
md
lg

ค่าจ้าง 300 บ./วันดันอุตฯ อาหารต้นทุนพุ่ง 20%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สถาบันอาหารแจงผลกระทบอุตสาหกรรมอาหารหลังปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท/วัน พบต้นทุนผลิตรวมสูงขึ้นตั้งแต่ 5-20% กลุ่มสินค้าสัตว์น้ำโดนหนักสุดเพิ่ม 20%  เนื้อสัตว์ 5-10% ส่อแววผลักสู่ราคาสินค้าแนวโน้มขยับเพิ่ม แนะรัฐควรช่วยเหลือเรื่องสิทธิประโยชน์ด้านภาษี อัตราดอกเบี้ย และการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้ทันเวลา

นายเพ็ชร ชินบุตร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท/วัน ใน 7 จังหวัดนำร่อง (ภูเก็ต กรุงเทพฯ สมุทรปราการ สมุทรสาคร ปทุมธานี นครปฐม และนนทบุรี) และอีกประมาณ 40% (อยู่ในช่วง 222-273 บาท) ใน 70 จังหวัดที่เหลือ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมานั้น อุตสาหกรรมอาหารถือเป็นหนึ่งในภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตอย่างมาก เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น (Labor Intensive)

ปัจจุบันโรงงานอุตสาหกรรมอาหารทั่วประเทศมีจำนวนประมาณ 9,227 โรงงาน แบ่งเป็นโรงงานขนาดเล็ก 91% ขนาดกลาง 6% และขนาดใหญ่ 3% โดยโครงสร้างต้นทุนด้านแรงงานที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้ต้นทุนการผลิตอุตสาหกรรมภาพรวมสูงขึ้นเฉลี่ย 5-20% โดยกลุ่มสินค้าสัตว์น้ำเพิ่มสูงขึ้น 20% กลุ่มสินค้าเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้น 5-10% กลุ่มสินค้าผักผลไม้ กรณีธุรกิจขนาดกลางเพิ่มขึ้น 5-10% ขณะที่ธุรกิจขนาดใหญ่เพิ่มขึ้น 2-3% กลุ่มสินค้าขนมปัง/อบกรอบ เพิ่มขึ้น 6-10% เป็นต้น

“หากผู้ผลิตไม่สามารถรับภาระนี้ได้ ก็ผลักออกมาเป็นทอดๆ สุดท้ายก็จะมาเป็นภาระของผู้ซื้อที่ต้องซื้อสินค้าในราคาสูงขึ้น ขณะเดียวกันก็จะเกิดการขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากมีการปรับค่าจ้างที่ไม่เท่ากันในพื้นที่ใกล้เคียง ทำให้แรงงานอาจเคลื่อนย้ายไปในจังหวัดที่ได้ค่าแรงสูงกว่ามาก” นายเพ็ชรกล่าว

นายเพ็ชรกล่าวอีกว่า ระยะสั้นนโยบายดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมอาหารอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขณะที่ในระยะยาวเชื่อว่าภาคธุรกิจจะปรับตัวได้ ปัญหาคือควรมีแนวทางในการลดผลกระทบต่อภาคธุรกิจในช่วงแรกของการดำเนินนโยบาย โดยเฉพาะมาตรการที่ช่วยลดภาระต้นทุนของภาคเอกชน ตัวอย่างเช่น การลดภาษีนำเข้าเครื่องมือเครื่องจักร รวมทั้งวัตถุดิบบางประเภทที่ไม่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรในประเทศ ให้สิทธิพิเศษหรืออัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อให้ผู้ประกอบการรายย่อยสามารถเข้าถึงแหล่งทุนด้วยต้นทุนที่ต่ำ เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น