“ค้าปลีก” มั่นใจปีนี้โตได้ 7-8% ยันราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในปัจจุบันยังไม่มีสัญญาณปรับขึ้นราคาแม้ว่าราคาน้ำมันจะสูงขึ้นต่อเนื่อง ห่วงปัญหาค่าแรงวันละ 300 บาท กระทบพนักงานพาร์ตไทม์เพราะไม่สามารถจ่ายเป็นรายชั่วโมงได้ “กลุ่มอาหาร” ยอมรับ กระทบต้นทุนผลิตเพิ่มขึ้น 5-20% ทั้งยังขาดแคลนแรงงานไม่ต่ำกว่า 50,000 คน
นายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า ภาพรวมธุรกิจค้าปลีกไทยในปีนี้คาดว่าจะเติบโตได้ 7-8% ตามทิศทางเศรษฐกิจของประเทศที่ยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง และกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังขยายตัวได้ดีอยู่ ประกอบกับไม่มีปัจจัยลบทางเศรษฐกิจเกิดขึ้น ส่วนราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในปัจจุบันยังไม่มีสัญญาณใดขอปรับขึ้นราคา แม้ว่าราคาน้ำมันจะสูงขึ้นต่อเนื่อง และส่งผลให้ภาพรวมธุรกิจค้าปลีกในไตรมาสแรกที่ผ่านมาชะลอตัว
อย่างไรก็ตาม สมาคมฯ ได้ทำหนังสือถึงหอการค้าไทยเพื่อพิจารณาเรื่องค่าแรงงาน 300 บาทสำหรับกลุ่มพนักงานที่ทำงานเป็นรายชั่วโมง (พาร์ตไทม์) เพราะผู้ประกอบการกลุ่มค้าปลีกและภาคบริการไม่สามารถจ่ายค่าจ้างให้แก่พนักงานพาร์ตไทม์เป็นรายชั่วโมงได้ ต้องจ่ายเป็นรายวัน วันละ 300 บาท เช่น ต้องการจ้างพนักงานวันละ 4 ชั่วโมง แต่ไม่สามารถจะจ้างได้ เพราะต้องจ่ายค่าจ้างเป็นรายวันทั้งหมด ทำให้ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบมาก จึงได้ยื่นหนังสือไปยังหอการค้าไทยเพื่อให้เสนอเรื่องไปยังรัฐบาลต่อไป
ด้านนายเพ็ชร ชินบุตร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากการสำรวจของศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร สถาบันอาหาร ในบางกลุ่มสินค้าพบว่าการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวันใน 7 จังหวัดนำร่องตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตโดยรวมเพิ่มสูงถึง 5-20%
ทั้งนี้ ผลการสำรวจพบว่า กลุ่มสินค้าสัตว์น้ำเพิ่มสูงถึง 20% สินค้าเนื้อสัตว์เพิ่ม 5-10% สินค้าผักและผลไม้เพิ่มขึ้น 5-10% และสินค้าขนมปัง ขนมปังอบกรอบ เพิ่มขึ้น 6-10% ซึ่งจะขึ้นอยู่กับระดับความเข้มข้นในการใช้แรงงานและกระบวนการผลิต และนอกจากปัญหาเรื่องการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำแล้ว ภาคอุตสาหกรรมอาหารยังเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานระดับล่างไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นคน