xs
xsm
sm
md
lg

ผลกระทบระเบิดหาดใหญ่ต่อธุรกิจท่องเที่ยวไทยปี 2555

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เหตุระเบิดคาร์บอมบ์ที่เกิดขึ้นภายในลานจอดรถโรงแรมลี การ์เดนส์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เมื่อวันที่ 31 มี.ค.2555 ทุบตลาดท่องเที่ยวสู่ภาวะชะงักงันอีกครั้ง นับเป็นเหตุก่อการร้ายที่รุนแรงไม่แพ้ที่เคยเกิดขึ้นที่หาดใหญ่ 4 ครั้งก่อน โดยเหตุครั้งนี้น่าจะทำให้เม็ดเงินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะไหลเข้าช่วงเทศกาลสงกรานต์ในพื้นที่ดังกล่าวสูญหายไปฉับพลัน คาด ผลกระทบจะเกิดขึ้นรุนแรง แต่เป็นเพียงระยะสั้น (3 เดือน) ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับมาตรการในการควบคุมและแก้ไขสถานการณ์ของทางการว่าจะฟื้นความเชื่อมั่นได้รวดเร็วเพียงใด

- กระแสก่อการร้ายดุดันนับตั้งแต่ต้นปี นับจากเหตุเตือนภัยการก่อวินาศกรรมที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี จนถึงเหตุระเบิดในกรุงเทพฯ เมื่อกลางเดือน ก.พ.55 ส่งผลให้หลายประเทศออกประกาศเตือนนักท่องเที่ยวของประเทศตนให้ระมัดระวังการเดินทางมายังไทย ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยช่วง 2 เดือนแรกปี 55 ขยายตัวเพียง 5% ซึ่งน้อยกว่าในช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่ขยายตัว 12% ช่วงเดียวกันปี 54 (โดยเดือน ก.พ.55 ขยายตัวเพียง 2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน)

- ระเบิดหาดใหญ่...ย้ำภัยก่อการร้าย ทุบตลาดท่องเที่ยวอีกครั้ง กระแสก่อการร้ายที่ยังคุกรุ่นกลับถูกโหมความรุนแรงขึ้นอีก หลังเกิดเหตุคาร์บอมบ์ที่โรงแรมลี การ์เดนส์ เพียงคล้อยหลังเหตุระเบิดที่กลางเมืองยะลาได้แค่ไม่กี่นาที ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก แสดงความจงใจของผู้ก่อเหตุในการสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวไทยก่อนเข้าเทศกาลสงกรานต์ ส่งผลให้เกิดความตระหนกและทำลายความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวในพื้นที่เสี่ยง ล่าสุด ทางการสิงคโปร์ประกาศเตือนนักท่องเที่ยว ว่า หากไม่มีเหตุจำเป็นในระยะนี้ ไม่ควรเดินทางมา จ.สงขลา และ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และมีแนวโน้มว่าประเทศอื่นจะประกาศเตือนเพิ่มตามมาอีก ล่าสุด สมาคมธุรกิจท่องเที่ยว จ.สงขลา รายงานการยกเลิกการเดินทางของนักท่องเที่ยวทันทีประมาณ 30% ของยอดการจองเข้าพักกว่า 1 หมื่นคน และประเมินว่า หลังจากนี้ จะมีการยกเลิกเพิ่มขึ้น ทำให้หาดใหญ่สูญเสียรายได้ท่องเที่ยวช่วงเทศกาลสงกรานต์ประมาณ 500 ล้านบาท

ฝ่ายวิจัยธนาคารกรุงศรีฯ ได้ประเมินโดยเปรียบเทียบกับสถานการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในพื้นที่นี้หลายครั้งที่ผ่านมา อาทิ เมื่อวันที่ 3 เม.ย.48 (เกิดเหตุระเบิด 3 จุดในหาดใหญ่ ได้แก่ สนามบิน ห้างคาร์ฟูร์ และโรงแรมกลางเมือง) รวมทั้งเหตุระเบิดกลางเมืองเมื่อ 16 ก.ย.49 และวันที่ 27 พ.ค.50 ส่งผลกระทบทางจิตวิทยาและความเชื่อมั่นในระยะสั้นๆ เท่านั้น โดยพบว่าหลังจากเหตุระเบิดนักท่องเที่ยวจะลดลงทันที และหลังจากนั้น ประมาณ 2-3 เดือน จำนวนนักท่องเที่ยวจะค่อยๆ กลับสู่ภาวะปกติในที่สุด จึงคาดว่า ผลกระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยวในหาดใหญ่จะรุนแรงเฉพาะในช่วง 3 เดือนแรกหลังจากนี้เท่านั้น โดยจำนวนนักท่องเที่ยวในช่วงดังกล่าวจะหดตัวถึง 60% และอัตราเข้าพักจะลดลงเหลือ 30-35% (เทียบกับเฉลี่ย 60% ในช่วงเดียวกันของปี 2554) หลังจากนั้น จะทยอยฟื้นตัวค่อนข้างเร็ว เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นซึ่งนักท่องเที่ยวในตลาดหลักอย่างเช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย และ สิงคโปร์ บางส่วนเริ่มเคยชิน และโดยเปรียบเทียบแล้ว ภัยก่อการร้ายใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังเกิดขึ้นบ่อยครั้งกว่า ทั้งนี้ สอดคล้องกับธนาคารแห่งประเทศไทย ที่เคยประเมินว่า ผลกระทบจากเหตุร้ายแรง นักท่องเที่ยวจะรอจังหวะให้เหตุการณ์คลี่คลายลงและจะหวนกลับมาเช่นเดิม

เมื่อพิจารณาผลกระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวหลักอื่นๆ โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลแถบอันดามัน (ภูเก็ต กระบี่ พังงา) คาดว่า จะมีผลไม่มากนัก เพราะยังเป็นช่วงนอกฤดูการท่องเที่ยวของจังหวัดอื่น กอปรกับมาตรการด้านความปลอดภัยจะมีความเข้มงวดมากขึ้นหลังเกิดเหตุ อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ระเบิดครั้งนี้ นับว่า สั่นคลอนความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวในภาพรวมอยู่บ้าง ซึ่งหากพิจารณาจากสัดส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในหาดใหญ่ประมาณ 10-12% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด ฝ่ายวิจัยประเมินว่า ผลกระทบดังกล่าวจะทำให้การขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในไทยอยู่ที่อัตรา 5% ซึ่งเป็นกรอบล่างของประมาณการณ์เดิมที่ 5-7% ในปี 2555

บทความโดยฝ่ายวิจัย บมจ.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเป็นเพียงข้อคิดเห็นส่วนบุคคลของผู้เขียนเท่านั้น จึงไม่มีความจำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของธนาคารแต่อย่างใด
กำลังโหลดความคิดเห็น