บอร์ด กนอ.ไฟเขียวกู้แบงก์ออมสิน 5.4 พันล้าน ทำคันกั้นน้ำถาวร 6 นิคมอุตฯ เสี่ยงน้ำท่วม ความยาวรวม 66.7 กิโลเมตร บางพลี บางชัน ลาดกระบัง บางปู สมุทรสาคร และพิจิตร มั่นใจเสร็จใน ส.ค.นี้ หวังสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุน และเป็นการสร้างระบบประกันภัยของประเทศเพิ่มเติม พร้อมสั่งเตรีมแผนฉุกเฉินรับมือ หากน้ำมาเร็วกว่าที่คาดการณ์
นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยผลการประชุมบอร์ด กนอ. นัดแรก เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2555 จึงเห็นชอบในหลักการตามข้อเสนอของ กนอ.ในการปรับปรุงมาตรฐานสาธารณูปโภคสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการในนิคม พ.ศ.2548 และการสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมนิคม
ทั้งนี้ กนอ.เสนอให้สร้างระบบป้องกันน้ำท่วมนิคมรวม 6 นิคม ประกอบด้วย นิคมอุตสาหกรรมบางพลี นิคมอุตสาหกรรมบางปู นิคมอุตสาหกรรมบางชัน นิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง และนิคมอุตสาหกรรมพิจิตร เพื่อให้สอดรับการการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปโดยเฉพาะการป้องกันน้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรม
นายวิฑูรย์ กล่าวเสริมว่า การอนุมัติของบอร์ดในครั้งนี้ ก็เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนโดยเฉพาะในนิคมอุตสาหกรรมภายใต้การดูแลของ กนอ.และเพื่อสร้างความมั่นใจแก่บริษัทประกันวินาศภัยที่จะมั่นใจกล้ารับทำประกันภัยแก่ผู้ลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมว่าจะไม่เกิดภัยน้ำท่วมขึ้นอีก
"เบื้องต้น กนอ.จะกู้เงินดอกเบี้ยต่ำจากธนาคารออมสิน ซึ่งจะขอผ่อนผันการชำระเพิ่มจาก 7 ปี เป็น 15 ปี ตามมาตรการช่วยเหลือจากรัฐบาลในวงเงินประมาณ 5,415 ล้านบาท มีความยาวเขื่อนป้องกันน้ำท่วมรวม 66.7 กิโลเมตร"
สำหรับระบบสูบน้ำ ทั้งระบบหลักและระบบสำรอง จะต้องสามารถระบายน้ำร้อยเปอร์เซ็นต์ได้ภายใน 2 ชั่วโมง พร้อมกับมีบ่อรับน้ำที่มีถนนโดยรอบเพื่อความสะดวกในการบำรุงรักษา การสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมจะเริ่มต้นในเดือนพฤษภาคม 2555 นี้ โดยมีเวลาก่อสร้างนาน 4 เดือน
"ยืนยันว่า โครงการดังกล่าว จะเสร็จภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2555 นี้ พร้อมกันนี้ได้สั่งการให้ กนอ.เตรียมแผนฉุกเฉินไว้รองรับกรณีน้ำหลากเร็วกว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จด้วย"
นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า กำลังจะเสนอให้รัฐบาลพิจารณาให้ความอนุเคราะห์เงินลงทุนสร้างระบบป้องกันน้ำท่วม 2 ใน 3 เช่นเดียวกับนิคมอุตสาหกรรม สวนอุตสาหกรรม และเขตอุตสาหกรรมที่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาล
ส่วนการสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมของเอกชนที่รัฐบาลให้การสนับสนุนใช้วงเงินช่วยเหลือรวม 6,700 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการเพื่อให้ความช่วยเหลือฟื้นฟู เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และความเป็นอยู่ของประชาชน (กศอ.) ซึ่งได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ฝ่ายเลขานุการดำเนินการเพื่อเสนอให้คณะกรรมการเพื่อให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูเยียวยา ผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย (กฟย.) ชุดใหญ่พิจารณาและนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติต่อไป