xs
xsm
sm
md
lg

ดัชนีผลผลิตอุตฯ เดือน ม.ค.ยังติดลบ 15% กระทบ “จีดีพี” กังวลน้ำมันแพง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ดัชนีผลผลิตอุตฯ เดือน ม.ค.ยังติดลบ 15% รองผู้อำนวยการ สศอ.ยอมรับ ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เหล็ก สิ่งทอ ยังไม่ฟื้น ห่วงฉุดตัวเลข “จีดีพี” ไตรมาส 1 ขยายตัวน้อย พร้อมกังวลปัญหาราคาน้ำมันทุบ ศก.ไทย

นายอภิวัฒน์ อสมาภรณ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ภาพรวมดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนมกราคม 2555 อยู่ที่ระดับ 158.6 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 15.15% ที่ค่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 186.93 เนื่องจากการผลิตของอุตสาหกรรมหลักที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมยังคงไม่สามารถกลับมาผลิตได้เหมือนในช่วงปกติ ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ระดับ 58.48%

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมสำคัญที่ค่าดัชนีผลผลิตยังคงติดลบอยู่ ได้แก่ อุตสาหกรรมรถยนต์ที่ค่าดัชนีหดตัวลดลง 2.9% อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ที่ยังคงติดลบ 46.36% เนื่องจากโรงงานผู้ผลิตหลายรายยังอยู่ระหว่างการซ่อมแซมเครื่องจักร และติดตั้งใหม่ อุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ค่าดัชนีติดลบ 32.03% อุตสาหกรรมเหล็ก ค่าดัชนีติดลบ 22.5% เพราะอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ ยังไม่ฟื้นตัว ปริมาณการใช้เหล็กจึงหดตัวตาม

ขณะที่อุตสาหกรรมการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป ค่าดัชนีลดลง 21.18% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัญหาราคาฝ้ายที่เป็นวัตถุดิบสำคัญยังคงผันผวน แม้ว่าราคาฝ้ายจะปรับตัวลดลง แต่ยังคงอยู่ในระดับที่สูงกว่าปกติ จึงทำให้ผู้ผลิตไม่มีความมั่นใจที่จะสต๊อกวัตถุดิบไว้ การผลิตจึงชะลอตัวลง ประกอบกับการส่งออกไปตลาดหลักอย่างสหรัฐอเมริกาก็ลดลง

นอกจากนี้ ค่าดัชนีตัวอื่นๆ ก็ยังคงอยู่ในระดับติดลบต่อเนื่อง ได้แก่ ดัชนีการส่งสินค้า อยู่ที่ระดับ162.32 ลดลง 11.20% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากระดับ 182.80 ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังอยู่ที่ระดับ 181.48 ลดลง 3.05 จากระดับ 187.18 ดัชนีแรงงานในภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 108.13 ลดลง 8.24% จากระดับ 117.83 ดัชนีผลิตภาพแรงงานในภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 157.90 ลดลง 2.62% จากระดับ 153.86

นายอภิวัฒน์ กล่าวว่า แนวโน้มดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมมีแนวโน้มจะปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากอุตสาหกรรมยานยนต์การผลิตเริ่มกลับเข้ามาสู่ภาวะปกติ และจะมีรถยนต์รุ่นใหม่ออกมาชดเชยตลาด แต่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ยังคงฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ว่าจะฟื้นตัวในไตรมาส 2 แต่การฟื้นตัวจริงๆ อาจจะเข้าสู่ช่วงไตรมาส 3 ได้ โดยในภาวะปกติอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยจะมากกว่า 60% และค่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมจะอยู่ในระดับ 180

อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องจับตาการฟื้นตัวในช่วงไตรมาส 1 เป็นอย่างดี เนื่องจากจะส่งผลต่อเป้าหมายการเติบโตภาคอุตสาหกรรม (จีดีพีอุตสาหกรรม) และดัชนีผลผลิตโดยรวมทั้งปี ที่ตั้งเป้าไว้ว่าจีดีพีภาคอุตสาหกรรมปี 2555 จะขยายตัว 3.5-4.5% และดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมจะขยายตัว 5-6% เพราะหากอุตสาหกรรมไม่สามารถฟื้นได้ในไตรมาส 1 อาจจำเป็นต้องมีการลดเป้าหมายลงได้ เพราะในช่วงไตรมาส 2 และ 3 ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงรออยู่

สำหรับปัจจัยลบที่อาจส่งผลต่อภาคการผลิต ได้แก่ ราคาน้ำมันที่ผันผวนอยู่ในระดับสูง เนื่องจากจะทำให้ราคาสินค้าปรับราคาสูงตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ทำให้ประชาชนระวังการจับจ่ายใช้สอย การผลิตก็จะลดลงตาม ขณะที่เศรษฐกิจโลกสหภาพยุโรป (อียู) ยังไม่ฟื้นตัว เศรษฐกิจสหรัฐอยู่ในระดับทรงตัว และญี่ปุ่นสถานการณ์ทางเศรษฐกิจก็ไม่ดีขึ้น ทำให้ในปี 2555 ปัจจัยบวกต่อภาคการผลิตมีน้อย อาจมีเพียงการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ แต่ไม่ทราบแน่นอนว่าจะทำได้เร็วแค่ไหน
กำลังโหลดความคิดเห็น