xs
xsm
sm
md
lg

คลังเชื่อศก.ไทยฟื้นตัว มั่นใจQ1/55จีดีพีเป็นบวก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - สศค.มั่นใจไตรมาสแรกปีนี้ จีดีพีกลับมาเป็นบวกได้อีกครั้งแน่ จากสัญญาณการฟื้นตัวเดือนม.ค.ดีขึ้นทุกตัว ต่อเนื่องจากธ.ค.54 มั่นใจราคาน้ำมันกระทบระยะสั้นเท่านั้น

นายบุญชัย จรัสแสงสมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยเดือนม.ค.ที่ผ่านมา มีสัญญาณการฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องจากวิกฤตอุทกภัยต่อเนื่องในเดือนธ.ค.54 โดยเฉพาะการบริโภค การลงทุนภาคเอกชนที่กลับมาขยายตัวได้อีกครั้ง ขณะที่การส่งออกเริ่มบ่งชี้ทิศทางการขยายตัวเป็นบวกเช่นกัน ทำให้มั่นใจว่า ไตรมาสแรกปีนี้ จีดีพีจะกลับมาเป็นบวกได้อีกครั้ง หลังจากไตรมาส 4 ปี 54 จีดีพีติดลบถึง 9%

"มั่นใจว่าจีดีพีไตรมาสแรกนี้จะกลับมาเป็นบวกได้ สะท้อนจากยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่ขยายตัวต่อเนื่อง 6% ขณะที่ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งหดตัวชะลอลงที่ -9.8% ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวถึง -28.1% ขณะที่การลงทุนมีสัญญาณดีขึ้น สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ขยายตัว 29.1% เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัว -46.9% ส่วนยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ หดตัวลดลง -7.1% จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวถึง -21.7% แสดงว่าเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้วอย่างช้า ๆ รวมทั้งภาคอุตสาหกรรมยานยนต์เริ่มกลับมา หลังจากสถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลายลง"

นอกจากนี้ ตัวเลขการส่งออกบ่งชี้ว่า มูลค่าการส่งออกกลับมาเป็นบวก 1.2% ได้ หรือมูลค่า 16,900 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากเดือนธ.ค. 54 ที่หดตัว -2% สะท้อนถึงความสามารถในการผลิตเพื่อส่งออกเริ่มปรับตัวดีขึ้น และหากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าไทยเติบโต 3% แม้เศรษฐกิจสหภาพยุโรปจะติดลบ 0.9% ยังเชื่อว่าจะไม่กระทบต่อเศรษฐกิจไทย

ส่วนการนำเข้านั้นยังติดลบ 0.2% หรือมูลค่า 17,600 ล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากฐานการนำเข้าช่วงเดียวกันของปีก่อนสูงมาก แต่ทั้งนี้ช่วงเดือนม.ค.-ก.พ.ที่ผ่านมามีการนำเข้าสูงมาก เพื่อชดเชยการฟื้นตัวจากช่วงปลายปีก่อน ทำให้ขาดดุลการค้าลดลงเหลือ 6,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการขาดดุลที่ลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 แล้ว

สำหรับเครื่องชี้ด้านการผลิตพบว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมฟื้นตัวดีขึ้นเทียบกับช่วง 2 เดือนก่อนหน้า ที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนม.ค. หดตัว -15.1% เทียบกับที่หดตัวลง-25.2% ในเดือนก่อนหน้า โดยอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีขึ้น คือหมวดน้ำมันปิโตรเลียม แร่อโลหะ และอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ที่เป็นปัจจัยสนับสนุนให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเริ่มสามารถฟื้นตัวได้เป็นสำคัญ รวมถึงหมวดก่อสร้างที่ยังขยายตัวได้โดยเฉพาะการจำหน่ายปูนซีเมนต์ที่เพิ่มขึ้น 7.1% จากเดือนก่อนหน้าที่ 6.3%

ขณะที่การผลิตภาคการเกษตรยังคงขยายตัวต่อเนื่อง 0.9% แม้ว่าจะขยายตัวในอัตราชะลอลง เนื่องจากมีผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมาก ทั้งยางพารา มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน ที่ส่งผลให้ราคาปรับลดลง ทำให้รายได้ที่แท้จริงของเกษตรกรลดลงไป 15.1% แต่ในภาคบริการนั้น มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปรับตัวดีขึ้นหรือ 1.9 ล้านคน เพิ่มขึ้น 7.7% นับเป็นสัญญาณที่ดี โดยได้รวมปัจจัยผลกระทบจากระเบิดแล้ว ขณะที่เสถียรภาพโดยรวมของไทยยังแข็งแกร่ง โดยมีเงินเฟ้อ 3.4% อัตราว่างงาน 0.4% ของกำลังแรงงาน มีทุนสำรองระหว่างประเทศสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้น 3.6 เท่า

จากนี้ไป ต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะทิศทางเศรษฐกิจกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป เกี่ยวกับการแก้วิกฤติหนี้สาธารณะ รวมทั้งราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น จากสถานการณ์ความไม่แน่นอนในภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปได้

นายบุญชัย กล่าวว่า ราคาน้ำมันที่สูงขณะนี้ ถือว่าเป็นผลกระทบระยะสั้น 2-3 เดือนเท่านั้น ซึ่งโดยภาพรวมแล้ว ขณะนี้ถือว่าราคาน้ำมันยังอยู่ภายใต้สมมุติฐานที่สศค.ประมาณการณ์ไว้ที่ 116 เหรียญต่อบาร์เรล หรือมีช่วง 111-121 เหรียญต่อบาร์เรล แต่เชื่อว่าปีนี้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะไม่สูงกว่าปี 54 ที่ผ่านมา

“อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะได้รับปัจจัยบวกจากการดำเนินนโยบายของรัฐบาล ในการสนับสนุนการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศ ซึ่งจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นต่อนักลงทุน แต่ทั้งนี้ยังไม่ได้รวมผลบวกจากพ.ร.ก.การกู้เงิน 350,000 ล้านบาทฯไว้ด้วย เพราะยังไม่เห็นโครงการที่ชัดเจน และไม่รู้ว่าจะลงทุนในปีนี้เป็นเงินเท่าใด โดยสศค.จะทบทวนและปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยอีกครั้งในช่วงปลายเดือนมี.ค.นี้”
กำลังโหลดความคิดเห็น