xs
xsm
sm
md
lg

จีดีพีปี 54 หดเหลือ 1.1% น้ำท่วมถล่ม Q4 ติดลบถึง 5% รัฐเร่งอัดงบกระตุก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มหาอุทกภัยถล่มเศรษฐกิจไทยไตรมาสสุดท้ายติดลบ 5% คลังหั่นจีดีพีปี 54 ลงเหลือ 1.1% ส่วนปี 55 มั่นใจยังขยายตัวได้ถึง 5% จากฐานทีต่ำ ระบุภาครัฐจะยังคงเป็นตัวนำขับเคลื่อนเศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปผ่านงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาท สินเชื่อแบงก์รัฐกว่า 3 แสนล้านและงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ พร้อมจัดทำร่างยุทธศาสตร์การคลังของประเทศในระยะกลางและระยะยาวเพื่อเป็นกรอบรักษาวินัยทางการคลังของประเทศ

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผย ว่า สศค.ได้มีการปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2554 ใหม่ โดยคาดว่าจะมีการขยายตัวชะลอลงมาอยู่ที่ 1.1% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 1.8% เนื่องจากวิกฤติอุทกภัยในช่วงปลายปีได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการผลิตในภาพอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมให้หดตัวลง และส่งผลกระทบต่อเนื่องให้ผู้ผลิตสินค้าและบริการจำนวนมากประสบปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วนในการผลิต ทำให้ไตรมาส 4 ของปีเศรษฐกิจหดตัวรุนแรงกว่าที่คิดโดยติดลบถึง 5% จากที่มองไว้เดิมเพียง 2-3%

สำหรับการหดตัวของเศรษฐกิจอย่างรุนแรงในไตรมาส 4 สะท้อนจากการบริโภคที่ชะลอตัวลงชัดเจน เห็นได้จากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่ติดลบครั้งแรกตั้งแต่ปี 2552 ยอดจำหน่ายรถยนต์ติดลบถึง 62% อสังหาริมทรัพย์หดตัว 18% รวมทั้งการส่งออกเดือน พ.ย. ที่ติดลบในรอบ 2 ปี ถึง 12.4% และผลผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ติดลบถึง 48%

“แม้ไตรมาสแรกเศรษฐกิจจะขยายตัว 3.2% ไตรมาส 2 ขยายตัว 2.7% ไตรมาส 3 ขยายตัว 3.5% แต่ไตรมาส 4 ที่คาดว่าติดลบ 5% เป็นตัวฉุดการขยายตัวทั้งปีให้ชะลอตัวลง เหลือเพียง 1.1 % โดยคาดว่าการส่งออกทั้งปียังขยายตัวได้ 5.6% นำเข้าขยายตัว 10.2% เงินเฟ้ออยู่ที่ 3.9% ซึ่งไม่น่าเป็นห่วงแต่ที่น่ากังวลคือปี 2554 การลงทุนภาครัฐกลับติดลบครั้งแรกที่ 6.6% ซึ่งในปีหน้าจะต้องเร่งรัดการลงทุนภาครัฐ รวมทั้งรัฐวิสาหกิจและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้สามารถเบิกจ่ายเงินได้เร็วขึ้นเพราะภาครัฐต้องเป็นตัวนำการลงทุนและกระตุ้นให้เอกชนลงทุนตาม” นายสมชัยกล่าว

สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2555 สศค.ยังคาดการณ์ว่ามีแนวโน้มการฟื้นตัวขึ้นและจะกลับมาขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นที่ 5% หรอมีช่วงการขยายตัวที่ 4.5-5.5% โดยมาจากการที่ฐานของปี 54 อยู่ในระดับต่ำและเป็นผลจากมาตรการของภาครัฐโดยเฉพะการเร่งอัดฉีดเงินเข้าระบบทั้งงบประมาณที่ขาดดุล 4 แสนล้านบาท เงินลงทุนของรัฐวิสาหกิจ 3 แสนล้านบาท การปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินอีก 3 แสนกว่าล้านบาท ต้องมีการนำไปปฎิบัติอย่างจริงจัง ซึ่งได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ติดตามความคืบหน้าเป็นรายเดือน ส่วนเศรษฐกิจโลกยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดเช่นเดียวกัน รวมทั้งปัจจัยทางด้านการเมืองทั้งในและต่างประเทศด้วย

นายสมชัยยังกล่าวว่า ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่เร่งจัดทำแผนยุทธศาสตร์การคลังระยะกลางและยาว สรุปภายใน 1-2 เดือนนี้ เพื่อเสนอ รมว.คลังต่อไปโดยจะมีการพิจารณาทั้งส่วนของแผนการจัดหารายได้ และการพิจารณารายจ่ายที่จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพราะถือเป็นความท้าทายในการรักษาวินัยการคลังในระยะต่อไป

น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านนโยบายเศรษฐกิจมหภาค กล่าวว่า เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจด้านการผลิตในเดือนพฤศจิกายน 2554 สะท้อนว่า ปัญหาอุทกภัยส่งผลให้การผลิตในภาคเกษตรและภาคบริการหดตัวลงมากจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมหดตัวลงค่อนข้างแรง สะท้อนจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่หดตัวถึง 48.6% ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัว 30.1% ขณะที่เครื่องชี้ด้านการผลิตภาคเกษตรกรรมหดตัวเช่นกันที่ 7.2% โดยเป็นการหดตัวจากผลผลิตข้าวนาปีเป็นสำคัญ สำหรับเครื่องชี้ภาคบริการที่สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศพบว่ามีการหดตัวเช่นกัน โดยในเดือนพฤศจิกายน 2554 มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยจำนวน 1.21 ล้านคน หดตัว 17.9% เป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 18 เดือน หลังจากเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในเดือนพฤษภาคม 2553

“เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในเดือนพฤศจิกายน 2554 มีสัญญาณการหดตัวลงอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นผลมาจากเหตุการณ์อุทกภัยทำให้ภาคการผลิตโดยเฉพาะการผลิตในภาคอุตสาหกรรมเกิดภาวะชะงักงัน ทำให้ สศค.ทำการปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยใหม่โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2554 จะขยายตัว 1.1%”
กำลังโหลดความคิดเห็น