xs
xsm
sm
md
lg

น้ำท่วมกระทบ ศก. เดือน พ.ย. หนักสุด ธปท. ห่วงฉุด "จีดีพี" วูบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ธปท. แถลงภาวะ ศก.ไทย เดือน พ.ย. ทรุดตัวหนักสุด ทั้งพิษน้ำท่วม ศก.โลกชะลอตัว กดดันตัวเลขการผลิต ส่งออก-นำเข้า ขณะที่การบริโภคในประเทศ หดตัวรุนแรง ห่วงกระทบ "จีดีพี" ไตรมาส 4 ดิ่งวูบ

นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้อำนวยอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดแถลงภาวะเศรษฐกิจและการเงินเดือนพฤศจิกายน 2554 ที่ผ่านมาว่า ความรุนแรงจากปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะในเศรษฐกิจในเดือนพฤศจิกายนในจุดรุนแรงสูงสุดแล้ว เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมได้ลุกลามเข้าสู่พื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ซึ่งเป็นอีกจุดที่ทำให้มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างรุนแรงต่อเนื่องจากเดือนตุลาคม 2554 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะภาคเกษตรที่ได้รับผลกระทบทั้งด้านการผลิตและราคา โดยผลผลิตสินค้าเกษตรหดตัวลงร้อยละ 7.2 จากระยะเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้รายได้เกษตรหดตัวร้อยละ 8.6

สำหรับภาคอุตสาหกรรมหดตัวต่อเนื่องในเกือบทุกหมวดสินค้า จากการหยุดผลิตของโรงงานรถยนต์หลายแห่ง การขาดแคลนชิ้นส่วน และปัญหาการขนส่ง ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ 48.6 โดยเฉพาะการผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ยานยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น ขณะที่ภาคการท่องเที่ยว ในเดือนนี้นักท่องเที่ยวยังคงชะลอการเดินทางมาไทย โดยจำนวนนักท่องเที่ยวลดลงเหลือ 1.2 ล้านคน หดตัวจาก 17.5 ล้านคน จากระยะเดียวกันของปีก่อน ซึ่งปัญหาน้ำท่วมดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังส่งออกในเดือนพฤศจิกายนให้หดตัว โดยมีมูลค่าส่งออก 15.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 13.1 จากการหดตัวของการส่งออกสินค้ายานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และข้าว รวมถึงการส่งออกคอมพิวเตอร์ และแผงวงจรไฟฟ้าที่ได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ และยุโรป

นอกจากนี้ การลดลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจการผลิต และน้ำท่วมขยายวงว้างทำให้มีสินค้าไม่เพียงพอต่อความต้องการทำให้ดัชนีการบริโภคภาคเอกชน ลดลงร้อยละ 1.6 จากระยะเดียวกันของปีก่อน เป็นการหดตัวในทุกหมวด ส่วนการลงทุนภาคเอกชน ลดลงจากปัญหาในภาคการผลิต ซึ่งทำให้การลงทุนในหมวดเครื่องจักร และอุปกรณ์หยุดชะงัก สะท้อนจากการนำเข้าสินค้าทุนที่ลดลงในเกือบ ทุกกลุ่มสินค้า

นอกจากนี้ยังมีการชะลอการลงทุนของโครงการก่อสร้าง ส่งให้ดัชนีการลงทุนเอกชนลดลง 1.3% จากระยะเดียวกันของปีก่อน ด้านการนำเข้าลดลงร้อยละ 1.9 หากไม่นับรวมทองคำลดลงร้อยละ 5.7 ด้านเงินเฟ้อทรงรัวอยู่ในระดับสูง โดยเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 4.19 และเงินเฟ้อพื้นฐานร้อยละ 2.90

สำหรับตลาดแรงงานเริ่มเห็นสัญญาณการว่างงานเพิ่มขึ้นบ้าง แต่คาดว่าน่าจะเป็นการเพิ่มขึ้นชั่วคราว เพราะหลังจากการฟื้นฟูยังมีความต้องการกลับมาจ้างงานต่อ ประกอบกับยังมีสถานประกอบการขาดแคลนแรงงานอยู่ส่วนหนึ่ง ขณะเดียวกันการผลิตและการส่งออกในหลายอุตสาหกรรมยังได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกด้วย

นายเมธี กล่าเพิ่มเติมว่า จากตัวเลขเศรษฐกิจในเดือนพฤศจิกายนที่ออกมาหดตัวมากกว่าที่คาดไว้ อาจส่งผลให้การประมาณการตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของ ธปท. ทั้งจีดีพีในไตรมาส 4 /2554 และทั้งปีที่เดิมได้คาดการณ์ไว้ว่าทั้งปีเศรษฐกิจจะเติบโตร้อยละ 1.8 ให้ลดลง อย่างไรก็ตาม จะมีผลให้จีดีพีต้องปรับลดลงเท่าไหร่นั้นยังไม่สามารถระบุได้ เนื่องจากต้องรอดูตัวเลขเศรษฐกิจในเดือนธันวาคมด้วยว่าเป็นอย่างไร และจะมีการประเมินอีกครั้งในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 25 มกราคม 2555 และจะมีการแถลงในรายงานแนวโน้มเงินเฟ้อในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2555

สำหรับเศรษฐกิจในระยะต่อไป หรือในปีหน้านั้น ธปท.มองว่า ภาคผลผลิตภาคการเกษตรที่หดตัว ส่งผลให้รายได้เกษตรหดตัวในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา คาดว่าในระยะต่อไปน่าจะปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากผลผลิตภาคการเกษตร เช่น ข้าว ยางพารา และ มันสำปะหลัง เป็นต้น ที่ได้รับผลกระทบจากอุกทกภัยจะกลับมามีปริมาณมากขึ้น หลังจากสถานการณ์น้ำท่วมหายไป ส่งผลให้รายได้เกษตรกรปรับตัวดีขึ้นตามมา ขณะที่ภาคอุตสาหกรรม จะค่อยปรับตัวดีขึ้น แต่ขึ้นอยู่กับแต่ละอุตสาหกรรมด้วย

สำหรับด้านการบริโภค การใช้จ่ายในประเทศจะเริ่มฟื้นตัวได้ในเดือนธันวาคมนี้ จากมาตรการช่วยเหลือ และกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐเป็นสำคัญ นอกจากนี้จากการสำรวจและติดตามข้อมูลรถยนต์พบว่าความต้องการก็ไม่ได้ทดถอยลงไป โดยพบว่ายังมีปริมาณความต้องการซื้ออยู่ ดังนั้นคาดการณ์ว่าจะเห็นการบริโภคเริ่มฟื้นกลับมาในเดือนธันวาคมนี้ ส่วนภาคการท่องเที่ยวคิดว่าน่าจะเริ่มฟื้นได้อย่างรวดเร็วใน 1- 2 เดือนจากนี้ เนื่องจากนักท่องเที่ยวที่เข้ามาท่องเที่ยวในไทยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวแทบประเทศเอเชีย ซึ่งมีการปรับตัวได้ค่อนข้างเร็ว
กำลังโหลดความคิดเห็น