xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤตหนี้ยุโรป-ศึกสภาอเมริกัน ร่วมดันเศรษฐกิจโลกจ่อปากเหว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเจนซีส์ – วิกฤตการเงินยุโรปกำลังฉุดเศรษฐกิจโลกเข้าสู่หายนะและจ่อภาวะถดถอยใกล้ขึ้น โดยเฉพาะเมื่อประกอบกับผลพวงจากศึกในสภาแดนอินทรีกรณีการหาทางตัดลดยอดขาดดุลงบประมาณจำนวนมหาศาล
ยอดส่งออกของจีนทรุดลง 50% จากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว ขณะที่ยอดสั่งซื้อของโรงงานในเยอรมนี ประเทศเศรษฐกิจเบอร์ 1 ของยุโรป ดิ่งลงตามการชะลอตัวในแดนมังกร อินโดนีเซียและออสเตรเลียลดดอกเบี้ยเพื่อผ่อนเพลาความเสียหายจากยุโรป ญี่ปุ่น อังกฤษ และบราซิล พร้อมใจลดการคาดการณ์การเติบโต
จากปักกิ่งถึงวอชิงตันและเซาเปาโล เจ้าหน้าที่การเงินระดับสูงกำลังกังวลว่าเศรษฐกิจจะถูกสูบเข้าสู่ความโกลาหล เนื่องจากยุโรปไม่สามารถหาข้อสรุปอย่างเป็นเอกฉันท์เกี่ยวกับการแก้ไขวิกฤตหนี้
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอิตาลีและสเปนที่เคลื่อนไหวอยู่แถวๆ 7% ส่งผลให้แบงก์พาณิชย์มีปัญหาในการระดมทุน และพลอยกระเทือนถึงเศรษฐกิจโลก ตามมาด้วยความเชื่อมั่นคลอนแคลนและการเติบโตถูกฉุดรั้ง
ไมค์ เฟอโรลี หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของเจพี มอร์แกน เชสในสหรัฐฯ ชี้ว่าอเมริกาอาจรอดพ้นจากภาวะถดถอยได้ ถ้ายุโรปไม่ล้มเหลวในการแก้ไขปัญหา แต่เมื่อพิจารณาว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ยุโรปยังไร้ทางออก จึงดูเหมือนว่าทางรอดของแดนอินทรีจะตีบตันไปด้วย อีกทั้งมองไม่เห็นจุดสิ้นสุดของปัญหา
คริสติน ลาการ์ด กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ขานรับว่า ถ้าปัญหาเศรษฐกิจยุโรปไม่ได้รับการแก้ไข อาจส่งผลใหญ่หลวงต่อสหรัฐฯ เนื่องจากมีความเชื่อมโยงกันอย่างแน่นหนา
ในการให้สัมภาษณ์รายการ ’60 มินิตส์’ ทางซีบีเอสเมื่อวันอาทิตย์ (20) ลาการ์ดแจงว่าสินค้าออกของสหรัฐฯ 20% มีจุดหมายปลายทางที่ยุโรป อเมริกาและยุโรปยังผูกพันเหนียวแน่นทั้งในธุรกิจธนาคารและตลาดแรงงาน
ลาการ์ดเสริมว่ากรณีอเมริกานั้น สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือการทุ่มเถียงทางการเมืองเพื่อลดยอดขาดดุล
ทั้งนี้ สมาชิกรัฐสภาอเมริกันมีเวลาจนถึงวันพุธ (23) ในการเสนอแผนลดยอดขาดดุลงบประมาณ 1.2-1.5 ล้านล้านดอลลาร์ภายในระยะเวลา 10 ปี
ทอม พอร์เซลลี หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ในอเมริกาของอาร์บีซี แคปิตอล มาร์เก็ตส์ กังวลว่าหากไม่สามารถตกลงกันได้ ซึ่งมีแนวโน้มมากขึ้นที่จะเป็นเช่นนั้น อาจทำให้เหล่าสมาชิกสภาต้องกลับลำและพยายามผลักดันกฎหมายฉบับใหม่เพื่อสกัดการเริ่มต้นลดงบประมาณโดยอัตโนมัติ อันจะทำให้ระบบการเงินผันผวนและแนวโน้มความเสี่ยงเลวร้ายลง
นอกจากนี้ คองเกรสยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะขยายมาตรการกระตุ้นทางการคลังในปีหน้าหรือไม่ เจพี มอร์แกน เชสประเมินว่า หากมาตรการเหล่านี้ อาทิ การลดภาษีเงินเดือน สวัสดิการสำหรับผู้ว่างงานระยะยาว และการใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐาน สิ้นสุดลง จะทำให้การเติบโตของสหรัฐฯ หายไป 1.5-2% ในปีหน้า
ศึกงบประมาณในสภายังบ่อนทำลายข่าวดีที่ออกมาไม่นานนี้ เช่น ยอดขายรถประจำเดือนตุลาคมที่เพิ่มขึ้นถึง 7% เช่นเดียวกับผลผลิตอุตสาหกรรมที่ขยับขึ้น ขณะที่การขอรับสวัสดิการว่างงานลดลงต่อเนื่อง ผู้บริโภคที่เป็นกำลังหลักของกิจกรรมเศรษฐกิจถึง 70% ปลดหนี้อย่างช้าๆ และอำนาจใช้จ่ายของครัวเรือนเริ่มฟื้นขณะที่ภาวะเงินเฟ้อคลี่คลายลง
ยุโรปยังหลงเหลือจุดแข็งเช่นกัน จากกระแสเงินสดภาคธุรกิจและสินค้าคงคลังระดับต่ำ ทำให้มีช่องทางอีกมากในการกระตุ้นอุปสงค์ เช่นเดียวกัน เยอรมนีมีอัตราว่างงานต่ำ สถานะการคลังแข็งแกร่งเพียงพอส่งเสริมดีมานด์ภายในประเทศ
แต่ความไม่แน่นอนทางการเมืองและความผันผวนทางการเงินกำลังแผ่ปกคลุมแนวโน้มเศรษฐกิจยุโรปและอเมริกา และแพร่กระจายสู่เอเชียที่ขับเคลื่อนด้วยภาคส่งออก
ตัวอย่างเช่นดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของจีนที่ใกล้หยุดนิ่งในเดือนกันยายน โดยอยู่ที่ 51% เหนือกว่าระดับ 50% ที่เป็นเกณฑ์แบ่งระหว่างการเติบโตและการหดตัวเพียงเล็กน้อย
สตีเฟน รอช ประธานกิตติมศักดิ์มอร์แกน สแตนเลย์ เอเชีย ชี้ว่าความต้องการของผู้บริโภคอเมริกันที่อ่อนแอลงประกอบกับปัญหาในยุโรป เป็นสัญญาณเตือนภัยสำหรับเอเชียที่เศรษฐกิจหนุนนำโดยการส่งออก และขณะนี้นับเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 3 ปีที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกตกอยู่ในความเสี่ยง
กำลังโหลดความคิดเห็น