เอเจนซีส์ - ความพยายามที่มีเป้าหมายสูงส่งที่สุดของวอชิงตันในรอบหลายปีที่ผ่านมา ในการลดยอดขาดดุลงบประมาณจำนวนมหาศาล ทำท่าจบลงด้วยความผิดหวัง โดยมีรายงานว่า คณะเจรจาพิเศษเตรียมแถลงยอมแพ้เนื่องจากไม่สามารถหาข้อสรุปได้เรื่องการขึ้นภาษีและตัดลดงบประมาณรายจ่ายด้านสวัสดิการ
คณะกรรมาธิการพิเศษ (super committee) ของรัฐสภาสหรัฐฯ ซึ่งประกอบด้วย สมาชิก 12 คนจากพรรครีพับลิกัน และพรรคเดโมแครต ฝ่ายละครึ่ง ยังมีเวลาทำงานไปจนถึงเส้นตายในวันพุธ (23) เพื่อเสนอแผนลดยอดขาดดุลงบประมาณ 1.2 ล้านล้านดอลาร์ เพื่อให้รัฐสภาอนุมัติภายในวันที่ 23 เดือนหน้า แต่หากล้มเหลวจะนำไปสู่การลดการใช้จ่ายอัตโนมัติ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2013 เป็นต้นมา
กระนั้น โทรทัศน์ซีเอ็นเอ็น รายงานเมื่อวันอาทิตย์ (20) โดยอ้างแหล่งข่าวจากทั้งสองพรรคว่าสมาชิกทั้งหลายในซูเปอร์คอมมิตตี ยอมรับแล้วว่า ไม่สามารถหาข้อตกลงได้และเตรียมจัดแถลงข่าวในวันจันทร์ (21) ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งสัญญาณที่บ่งชี้ว่า ผู้นำ ส.ส.และวุฒิสมาชิกของทั้งสองพรรคหัวรั้นเกินกว่าจะยอมประนีประนอมในเรื่องการขึ้นภาษีเพื่อเพิ่มรายได้และการลดรายจ่ายทางด้านสวัสดิการ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าจำเป็นต่อการวางรากฐานเพื่อสถานะการคลังที่มั่นคงของประเทศ
ความล้มเหลวนี้ยังตอกย้ำความไร้น้ำยาของวอชิงตันในสายตาผู้มีสิทธิ์ออกเสียง และนักลงทุนที่หมดศรัทธาแล้วกับนโยบายแก้ปัญหา ซึ่งเคยถึงขั้นทำให้อเมริกาหวุดหวิดผิดชำระหนี้ครั้งแรกในประวัติศาสตร์เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ความอึมครึมในคองเกรสเกี่ยวกับการลดยอดขาดดุลงบประมาณของสหรัฐฯ ยังไปเพิ่มความกดดันต่อเศรษฐกิจโลก นอกเหนือจากปัญหาทางการเงินที่คุกคามความอยู่รอดของสหภาพการเงินยุโรปอยู่ในเวลานี้
ประธานาธิบดี บารัค โอบามา นั้น กันตัวเองออกจากการเจรจา โดยเลือกเน้นมาตรการสร้างงานที่ถูกรีพับลิกันขัดขวางในสภามากกว่า โดยบรรดาผู้ช่วยเชื่อว่า ผู้นำทำเนียบขาวจะสามารถใช้ความล้มเหลวของคณะกรรมาธิการพิเศษเพื่อฉายภาพว่ารีพับลิกันเป็นพวกขัดขวางความเจริญในศึกเลือกตั้งใหญ่ปลายปีหน้า
ทั้งนี้ ผู้นำในคองเกรสตั้งคณะกรรมาธิการพิเศษชุดนี้ขึ้น ในช่วงที่เกิดศึกงบประมาณฤดูร้อนที่ผ่านมา ซึ่งฉุดความเชื่อมั่นผู้บริโภค และกระตุ้นให้สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ส (เอสแอนด์พี) ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ ที่ขณะนั้นอยู่ที่ AAA เป็นครั้งแรก รวมทั้งฉุดหุ้นวอลล์สตรีทดิ่งกว่า 2,000 จุด
คณะกรรมาธิการพิเศษมีภารกิจในการจัดทำรายละเอียดข้อตกลงตัดลดงบประมาณอย่างน้อย 1.2 ล้านล้านดอลลาร์ภายใน 10 ปี ซึ่งเพียงพอที่จะแสดงให้เห็นว่า วอชิงตันสามารถผ่อนเพลาภาระหนี้ที่มีมูลค่าอยู่ที่ 15 ล้านล้านดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หรือเท่ากับมูลค่าเศรษฐกิจของประเทศ
เนื่องจากมีการตกลงกันไว้แล้วว่า ถ้าหาก “ซูเปอร์คอมมิตตี” ชุดนี้ทำงานไม่สำเร็จ ก็จะต้องหันไปตัดลดงบประมาณรายจ่ายอัตโนมัติในงบด้านกลาโหม และโครงการภายในประเทศในจำนวนเท่าๆ กัน ดังนั้นจึงมีหลายฝ่ายเชื่อว่า ภารกิจนี้จะบรรลุผล เพราะถ้าปล่อยให้ไปตัดรายจ่ายอย่างอัตโนมัติเช่นนั้น ก็จะเกิดผลเสียมากกว่าในด้านคะแนนนิยม
ทว่า ในที่สุดแล้วคณะกรรมาธิการพิเศษยังคงตกลงกันไม่ได้อยู่นั่นเอง โดยที่ฝ่ายรีพับลิกันคัดค้านหัวชนใจไม่เอาด้วยกับมาตรการขึ้นภาษีเพื่อเพิ่มรายได้ ขณะที่เดโมแครตก็ไม่สนับสนุนการยกเครื่องระบบสวัสดิการครั้งใหญ่
กระนั้น กลไกการลดการใช้จ่ายอัตโนมัติจะยังไม่มีผลบังคับใช้จนกว่าจะถึงเดือนมกราคม 2013 และวันอาทิตย์ที่ผ่านมา สมาชิกรัฐสภายังเริ่มมองหาทางออกกฎหมายฉบับใหม่เพื่อหลีกเลี่ยงกลไกดังกล่าว ซึ่งจะส่งผลร้ายต่อทั้งรีพับลิกันและเดโมแครต
ทั้งนี้ ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ความล้มเหลวนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่สมาชิกรัฐสภาหวาดกลัวผลลบทางการเมืองจากข้อตกลงเหมือนเช่นที่เคยเกิดขึ้นในช่วงปลายทศวรรษ 1990
จุดเริ่มเรื่องมาจากข้อตกลงปี 1990 ในการขึ้นภาษีและลดการใช้จ่าย กระตุ้นให้สมาชิกสายอนุรักษ์ในรีพับลิกันแข็งข้อ และสถานะของจอร์จ บุช ประธานาธิบดีในขณะนั้นคลอนแคลนลงและพ่ายแพ้การเลือกตั้งในสองปีให้หลัง
เช่นเดียวกับข้อตกลงในปี 1993 ที่ปราศจากการยินยอมพร้อมใจของรีพับลิกัน และทำให้เดโมแครตแพ้การเลือกตั้งในปีต่อมา