xs
xsm
sm
md
lg

FREEFALL รากเหง้า-ทางออก แห่งวิกฤติการณ์การเงินโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เมื่อเดือนมกราคม ปี 2009 บารัก โอบามา เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี หนี้ของรัฐบาลสหรัฐฯ มีมูลค่า 10.6 ล้านล้านดอลลาร์ หลังจากนั้น อีกเพียง 2 ปี 4เดือน หนี้สินของรัฐบาล หรือหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นเป็น 14.3 ล้านล้านดอลลาร์ เต็มเพดานการก่อหนี้ ต้องขอให้ รัฐสภาขยายเพดานหนี้เพิ่มขึ้น ซึ่งกว่าจะเข็น กฎหมายที่ขยับเพดานหนี้เพิ่มขึ้นอีก 2.4 ล้านล้านดอลลาร์จนถึงปี 2013 และตัดค่าใช้จ่ายของรัฐบาลลง 2.1 ล้านล้านดอลลาร์ ภายในเวลา 10 ปี ก็ต้องสู้กันจนถึงนาทีสุดท้าย ก่อนจะถึงเส้นตายกำหนดการชำระหนี้ในวันที่ 2 สิงหาคม

หนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นเกือบ 35 เปอร์เซ็นต์นี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากยุคก่อนๆ เช่น ค่าใช้จ่ายด้านการประกันสุขภาพ ส่วนหนึ่งเป็นมรดกสงครามในยุคประธานาธิบดีจอร์จ บุช ซึ่งนำสหรัฐฯ เข้าสู่สงครามในอิรัก และอาฟกานีสถาน ทำให้ค่าใช้จ่ายด้านการทหารเพิ่มสูงขึ้น

รัฐบาลจอร์จ บุช ยังลดภาษีเงินได้ จากที่เคยเก็บในอัตราสูงสุด 39.6 เปอร์เซ็นต์ เหลือ 35 % และลดภาษีการลงทุน จาก 20 เปอร์เซ็นต์ เหลือ 15 เปอร์เซ็นต์ ทำให้รายได้จากภาษีลดลงไปมาก เมื่อเกิดวิกฤติการณ์ ซับไพร์มส์ขึ้นในปี 2008 เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย รายได้จากภาษีก็ยิ่งหายไปอีก ขณะเดียวกัน เมื่อเกิดวิกกฤติการณ์การเงิน ซึ่งเริ่มต้นขึ้นอย่างชัดเจนใน เดือนกันยายน 2008 เมื่อเลห์แมน บราเธอรส์ ล้มละลาย รัฐบาลได้ตัดสินใจเข้าไปอุ้ม สถาบันการเงินขนาดใหญ่ ที่ขาดทุนมหาศาลจากการเก็งกำไร ในตราสารอนุพันธ์ที่อิงกับสินเชื่อซับไพร์มส์ เช่น ซิตี้แบงก์ โกลด์แมน แซคส์ เอไอจีฯลฯ รวมทั้ง การใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ อัดฉัดเงินเข้าไปในระบบเพื่อเพิ่มกำลังซื้อให้เศรษฐกิจฟื้นตัว ซึ่งยิ่งทำให้การขาดดุลงบประมาณที่มากอยู่แล้ว ยิ่งขยายกว้างขึ้น ต้องกู้เงินมาโปะการขาดดุล จนทำให้การก่อหนี้ชนเพดาน

เงินที่รัฐบาลหมดไปกับการอุ้มสถาบันการเงินขนาดใหญ่ และการกระตุ้นเศรษฐกิจ ประมาณว่า สูงถึง 2 ล้านล้านเหรียญ สหรัฐ หรือเท่ากับ เพดานการก่อหนี้ที่โอบามาขอขยายเพิ่มเติมในครั้งนี้ แต่ ก็ยังไม่สามารถกอบกู้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ให้ฟื้นตัวอย่างมั่นคงได้ แม้ว่า จะใช้เงินมหาศาลขนาดนี้ และเวลาผ่านไปแล้ว เกือบ 3 ปี

หนังสือเรื่อง “ FREEFALL รากเหง้า-ทางออกแห่งวิกฤติการณ์การเงินโลก” ซึ่งเขียนโดย โจเซฟ สติกลิตซ์ นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล เป็นหนังสือเล่มหนึ่งในหลายๆ เล่ม ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับวิกฤติการณ์การเงิน ในสหรัฐ ฯ เมื่อปี 2008 แต่ที่แตกต่างคือ ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ ที่ไม่เชื่อในเรื่อง ตลาดเสรี และมีจุดยืนที่ต่อต้านสถาบันของระบบบทุนนิยมโลก สติกลิตซ์เห็นว่า วิกฤติการณ์นี้ เป็นผลพวงจาก แนวความคิดในเรื่อง ตลาดเสรี ทีเชื่อว่าตลาดมีประสิทธิภาพ สามารถปรับตัวได้ด้วยตัวเอง รัฐ ควรจำกัดบทบาทในการกำกับดูแลให้น้อยที่สุด หรือ ไม่ต้องมีเลย เพราะตลาดสามารถ แก้ไขความผิดพลาดด้วยตัวเองได้

แต่วิกฤติการณ์การเงินที่เกิดขึ้นในอดีต เป็นข้อพิสูจน์ว่า แนวความคิดเรื่อง ตลาดเสรีนั้น ล้มเหลว ทุกครั้งที่ระบบการเงินในประเทศต่างๆ เกิดวิกฤติขึ้น สุดท้ายรัฐต้องยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือ โดยใช้เงินภาษีของประชาชน ตลาดไม่สามารถแก้ไข และรับผิดชอบปัญหาของตนเองได้ ซ้ำร้าย ยังโยนภาระที่ตัวเองก่อขึ้น ไปให้ประชาชนซึ่งไม่เคยได้รับประโยชน์ในยามที่ตลาดรุ่งเรือง แบกรับแทน


วิกฤติการณ์ครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน ที่ฟ้องว่า ผู้ได้รับประโยชน์จาก มนตร์คาถาเรื่อง ตลาดเสรีนั้น คือ สถาบันการเงิน และวอลล์สตรีท รวมถึงสถาบันจัดอันดับเครดิต ที่รวมหัวกันนำเงินฝากของประชาชน หรือเงินลงทุนของผู้เกษียณอายุ ไปเล่นแร่แปรธาตุ ปั่นกันไปเรื่อยๆ จนมูลค่าที่แท้จริงกลายเป็นมูลค่าแบบฟองสบู่ ที่หาค่ามิได้เลย

ที่เลวร้ายที่สุดคือ การที่รัฐบาล และธนาคารกลาง ยอมตามความต้องการของวอลล์สตรีท ผ่อนคลายมาตรการการกำกับดูแลตลาดการเงิน จนแทบจะเรียกได้ว่า ไม่มีการกำกับดูแลเลย ทำให้ไม่มีการควบคุม การเสี่ยงที่เกินขอบเขต และไร้เหตุผล

ในหนังสือเรื่อง Freefall สติกลิตซ์ อธิบายว่า เหตุใด มาตรการอุ้มสถาบันการเงินโดยรัฐ จึงได้ผลในการแก้ไขวิกฤติการณ์เพียเล็กน้อยเท่านั้น และหากต้องการให้มีผลมากกว่าที่เกิดขึ้นแล้ว จะต้องทำอย่างไร ทั้งยังชี้ให้เห็น โอกาสครั้งใหญ่ ในการออกแบบโครงสร้างสถาปัตยกรรมการเงินใหม่ของโลก

หนังสือเล่มนี้ ยังวิจารณ์ การดำเนินการหลายๆอย่าง ทั้งโดยรัฐบาล จอร์จ บุช และบารัค โอบามา อย่างหนัก และบอกว่า ทำไม ผู้ที่อยู่ในภาคการเงิน ควรจะเป็นผู้แบกรับต้นทุนมหาศาลในการกอบกู้ระบบการเงินครั้งนี้ ไม่ใช่เพื่อความเป็นธรรมเท่านั้น แต่ยังเป็นไปตามหลักเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ด้วย

โจเซฟ สติกลิตซ์ เคยเป็นหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ ของธนาคารโลก จนถึง เดือนมกราคม 2000 เขาได้รับรางวัลโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์เมื่อปี 2001 และเป็นผู้เขียนหนังสือที่ติดอันดับยอดนิยมคือ Globalization and Its Discontents , The Roaring Nineties, Making Globalization Work และ The Three Trillion Dollar War

สำหรับ FREEFALL ในภาคภาษาไทย แปลและเรียบเรียงดดย ขุนทอง ลอเรีวานิช และจัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ MGR 360 องศา
กำลังโหลดความคิดเห็น