xs
xsm
sm
md
lg

คาดแนวโน้มอุตฯ ฟื้นกลับสู่ปกติใน Q2/55 ภาคการผลิตขนาดใหญ่ตัวแปรสำคัญ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สศอ. คาดแนวโน้มอุตฯ ฟื้นกลับสู่ปกติใน Q2/55 มองตัวเลขทั้งปีขยายตัวได้ 5-6% ยอมรับในช่วง Q1/55 ภาคการผลิตขนาดใหญ่ ยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานในการผลิตสินค้าที่เกี่ยวเนื่องจำนวนมาก

นายอภิวัฒน์ อสมาภรณ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวถึงแนวโน้มภาคอุตสาหกรรมปี 2555 โดยคาดว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) จะขยายตัวในช่วงระหว่าง 5-6% โดยแนวโน้มอุตสาหกรรมไทยยังอยู่ในภาวะชะลอตัวในไตรมาสที่ 1 จากนั้นไตรมาสที่ 2 จะเริ่มอยู่ในภาวะขาขึ้นและอาจเติบโตในระดับปกติหรือทรงตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากภาคอุตสาหกรรมการผลิตส่วนใหญ่ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้เต็มที่

ส่วนแนวโน้มครึ่งปีหลังคาดว่าจะเติบโตได้ ภายใต้ปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ ก็คือการใช้จ่ายหรือลงทุนของภาครัฐบาลในด้านต่างๆ รวมไปถึงแรงขับเคลื่อนจากการเร่งการผลิตในหลายสาขาอุตสาหกรรมหลังจากที่ได้รับการฟื้นฟูโรงงานและกลับมาผลิตอีกครั้ง จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่สนับสนุนการขยายตัวให้กลับคืนมาอีกครั้ง

โดยในปี 2554 ดัชนี MPI หดตัวในช่วง -9 , -10% และอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 56-58% โดยข้อมูลล่าสุด 11 เดือนแรก MPI -7.9% อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 58.6% ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบคืออุทกภัยในหลายพื้นที่ทั่วประเทศทำให้การผลิตหยุดชะงักเป็นการชั่วคราว โดยเฉพาะนิคมอุตสาหกรรมของ จ.พระนครศรีอยุธยา และจังหวัดปทุมธานี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน(Supply Chain)ในการผลิตสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง

นายอภิวัฒน์ กล่าวว่า แนวโน้มอุตสาหกรรมรายสาขาในปี 2555 อาทิ อาหาร คาดว่าผลผลิตจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยประมาณ 0.1% โดยยังต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น การประกาศลดค่าเงินของประเทศคู่แข่งและการแข็งค่าของค่าเงินบาท ความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจในประเทศของผู้บริโภคที่ยังชะลอการจับจ่ายใช้สอย ภัยธรรมชาติที่ไม่อาจคาดการณ์ได้

นอกจากนี้ ยังต้องเฝ้าระวังการประกาศมาตรการกีดกันรูปแบบใหม่ โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การวิเคราะห์ร่องรอยคาร์บอนและการใช้น้ำ และความปลอดภัยของแรงงาน ซึ่งจะประกาศใช้เพื่อส่งเสริมการผลิตในกลุ่มประเทศสมาชิก นอกจากนี้การที่สหรัฐฯ กำลังพิจารณายกเลิกการคว่ำบาตรการค้ากับพม่า อาจส่งผลต่อการแข่งขันกับสินค้าไทยได้ในอนาคต

ขณะที่ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม คาดว่าทั้งปริมาณการผลิตเส้นใยสิ่งทอ ผ้าผืน เครื่องนุ่งห่มโดยเฉพาะเสื้อผ้าสำเร็จรูป จะมีการผลิตที่ปรับตัวลดลงเนื่องจากอุทกภัย หากสถานการณ์คลี่คลายและโรงงานที่ได้รับความเสียหายสามารถฟื้นตัวได้ในระยะเวลาอันสั้น (ไม่เกิน 6 เดือน) จะช่วยลดผลกระทบได้ โดยการผลิตและมูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มคาดว่าจะฟื้นตัวได้ภายในไตรมาสที่ 2 แต่ถ้าใช้เวลาฟื้นฟูนานเกินกว่า 6 เดือน ผู้ประกอบการอาจจะต้องนำเข้าวัตถุดิบเพื่อการผลิต ทั้งผ้าผืน เส้นใย เส้นด้าย และเสื้อผ้าสำเร็จรูป

ส่วนเหล็กและเหล็กกล้า แนวโน้มคาดว่ากลุ่มเหล็กทรงยาวซึ่งใช้ในภาคการก่อสร้างจะขยายตัวขึ้นส่วนหนึ่งเพื่อเร่งซ่อมแซมสาธารณูปโภคและบ้านเรือนที่เสียหายจากภาวะอุทกภัยในประเทศ นอกจากนี้ยังเป็นการผลิตเพิ่มขึ้นเพื่อรักษาระดับสต๊อกที่ลดลงในช่วงปลายปี 2554 ส่วนเหล็กทรงแบนคาดว่าการผลิตและความต้องการใช้ในประเทศจะลดลงเนื่องจากนิคมอุตสาหกรรมหลายนิคมซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ส่งผลให้ความต้องการใช้เหล็กลดลงด้วย

ปูนซีเมนต์ คาดว่าความต้องการใช้ปูนซีเมนต์จะเพิ่มขึ้นหลังจากที่ภาวะน้ำท่วมเริ่มคลี่คลาย เนื่องจากการซ่อมแซมที่อยู่อาศัย พื้นที่ภาคอุตสาหกรรม รวมถึงเส้นทางการขนส่งที่เสียหายจากน้ำท่วม ทั้งนี้ผู้ประกอบการได้เตรียมการผลิตเพื่อรองรับความต้องการที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเห็นผลอย่างชัดเจนในช่วงไตรมาสที่ 1-ไตรมาสที่ 2 ปี 2555

ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ยังคงขยายตัวได้ แต่มีอัตราการขยายตัวที่ไม่สูงมากนัก โดยอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5-7 เนื่องจากจะมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออก ส่วนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 10-12% เนื่องจากความต้องการสินค้าไอทีใหม่ๆ ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงทางด้านการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา ที่มีความไม่แน่นอนค่อนข้างสูง

ด้านรถยนต์คาดว่าจะมีผลิตรถยนต์ประมาณ 2,000,000 คัน เพิ่มขึ้น 33% เนื่องจากการลงทุนผลิตรถยนต์รุ่นใหม่และรถยนต์ยี่ห้อใหม่ที่เริ่มผลิตในประเทศ เพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออกไปยังประเทศสำคัญในเอเชีย ตลอดจนการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์ภายหลังจากปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศ และการกระตุ้นยอดจำหน่ายจากนโยบายรถยนต์คันแรก อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงเรื่องของอัตราดอกเบี้ยและราคาน้ำมัน ที่อาจส่งผลต่อการเลือกซื้อรถยนต์
กำลังโหลดความคิดเห็น