xs
xsm
sm
md
lg

“แอร์พอร์ตลิงก์” ยันไม่มีปัญหาขาดแคลนอะไหล่ ปลดล็อกจอดรับส่งที่มักกะสัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - “แอร์พอร์ตลิงก์” ยันไม่มีปัญหาอะไหล่ เผย ตั้งงบจัดซื้อเดือนละ 30 ล้าน ระบุ โยกอะไหล่จากรถอีกขบวนมาใช้ทดแทนก่อนเป็นเรื่องปกติของกระบวนการซ่อม แต่ห้ามรถเสียแบบพิเศษ เหตุในสต๊อกแค่พอใช้หมุนเวียนตามรอบ เตรียมลงทุน 17 ล้านบาท ปลดล็อกเปิดขบวน Express Line วิ่งพญาไท จอดมักกะสันได้ เผยบริษัทลูกยังไม่จบ เหตุ สบน.ให้รับหนี้ระบบอาณัติสัญญาณอีก 4 พันล้าน กระทบแผนธุรกิจหนี้ทะลัก 1.1 หมื่นล้าน

นายภากรณ์ ตั้งเจตสกาว รองผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด เปิดเผยว่า ขณะนี้การให้บริหารโครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และสถานีรับส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมือง หรือแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ไม่มีปัญหาเรื่องการขาดแคลนอะไหล่ โดยได้มีการตั้งงบในการจัดซื้อประมาณ 30 ล้านบาทต่อเดือน ส่วนกรณีที่มีรถเสียและมีการถอดอะไหล่จากรถอีกคันไปใช้ในรถอีกคันหนึ่งนั้น เป็นเรื่องปกติที่จะใช้กับอะไหล่ที่ไม่มีความซับซ้อนและเฉพาะตัว และเป็นกระบวนการซ่อมบำรุงปกติ ซึ่งรถไฟฟ้าบีทีเอส และรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT ดำเนินการเหมือนกัน

“อะไหล่ในสต๊อกมีเพียงพอสำหรับการหมุนเวียนใช้ตามระบบและเวลาในการซ่อมบำรุง ยกเว้นอะไหล่บางตัวที่ต้องใช้เวลาในการสั่งซื้อนาน 6 เดือนถึง 1 ปี ซึ่งหากเกิดปัญหาการชำรุดที่นอกเหนือจากปกติจะกระทบต่อการซ่อมบำรุงได้ ซึ่งเคยเกิดขึ้นเมื่อช่วงเดือน มี.ค.2554 กรณีคาร์บอนสติ๊ก ตัวรับกระแสไฟฟ้าสึกหรอเร็วผิดปกติ จากอายุใช้งาน 6-8 เดือน เหลือ 1 สัปดาห์ จึงเกิดปัญหาขึ้น” นายภากรณ์ กล่าว

นายภากรณ์ กล่าวว่า ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นหากไม่เร่งแก้ไข คือ การซ่อมบำรุงใหญ่ หรือซ่อมหนักประมาณปี 2557 ซึ่งรถไฟฟ้าจะวิ่งครบระยะทาง 1 ล้านกิโลเมตร โดยขณะนี้วิ่งไปแล้ว 4 แสนกิโลเมตร เพราะจะต้องมีการจัดซื้ออะไหล่มูลค่าหลายร้อยล้านบาท รวมถึงจะต้องมีขบวนรถสำรอง เนื่องจากจะต้องถอนรถออกจากระบบครั้งละ 2 ขบวน ครั้งละ 2 สัปดาห์ เพื่อไม่ให้กระทบต่อการให้บริการ

โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเสนอแผนจัดซื้อขบวนรถ 5 ขบวนๆ ละ 4 ตู้ วงเงินประมาณ 3,200 ล้านบาท ต่อคณะกรรมการ (บอร์ด) ของบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด เพื่อนำเสนอบอร์ดร.ฟ.ท.และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบโดยบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด จะดำเนินการกู้เงินมาจัดซื้อรถเอง โดยจะต้องเร่งสรุปภายในปีนี้ เนื่องจากจ้องใช้เวลาสั่งซื้อ 2 ปี แต่หากไม่ทันอาจจะต้องเจรจากับผู้ผลิตเพื่อเร่งกระบวนการให้เหลือ 1.5 ปี

การจัดซื้อจัดจ้างของแอร์พอร์ตลิงก์ยังต้องใช้งบประมาณจาก ร.ฟ.ท.ซึ่งเป็นบริษัทแม่อยู่ เนื่องจากยังอยู่ระหว่างการพิจารณาโอนหนี้สินให้บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด ซึ่งเดิมบริษัทจะรับหนี้สินจาก ร.ฟ.ท.ประมาณ 7,035 ล้านบาท ซึ่งเป็นค่าลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน แต่ทางสำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เห็นว่า ควรรับโอนหนี้ในส่วนของระบบอาณัติสัญญาณ ประมาณ 4,000 ล้านบาทด้วย ซึ่งจะทำให้หนี้ของบริษัทเพิ่มเป็นกว่า 11,000 ล้านบาท และกระทบต่อสัดส่วนหนี้สินต่อทุนและแผนธุรกิจของบริษัท จึงยืนยันรับโอนหนี้เฉพาะที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน

ปัจจุบันแอร์พอร์ตลิงก์มีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 10 ก.พ.2555 ได้ทำสถิติใหม่จำนวน 50,569 คน แบ่งเป็น ขบวน City Line 46,787 คน ขบวน Express Line 3,782 คน ซึ่งก่อนหน้านี้ ขบวน Express Line จะมีผู้โดยสารเฉลี่ยประมาณ 2,700-2,800 คนต่อวัน ซึ่งสาเหตุที่มีผู้ใช้บริการมากขึ้น เนื่องจากปัญหาการจราจรและราคาน้ำมันที่สูงขึ้น รวมถึงการปรับขบวนรถ Express Line ให้วิ่งถึงพญาไท ทำให้ขณะนี้มีรายได้รวมประมาณ 47.8 ล้านบาทต่อเดือน (จาก City Line 41 ล้านบาท และ Express Line 7.7 ล้านบาท)

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้บริษัทได้ทำการออกแบบเพื่อปลดล็อกด้านเทคนิค และเปิดระบบให้ขบวนรถ Express Line ที่วิ่งจากพญาไท สามารถจอดรับส่งได้ที่มักกะสันได้ ลงทุนประมาณ 17 ล้านบาท จากเดิมที่ทางบริษัท ซีเมนส์ จำกัด จะปรับให้แต่ต้องใช้เงินถึง 1,000 ล้านบาท โดยคาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการประมาณ 4 เดือน โดยจะต้องเสนอของบลงทุนในปี 2556
กำลังโหลดความคิดเห็น