xs
xsm
sm
md
lg

ข้าวสาร-น้ำตาล-นม-ยา แห่ขึ้นราคา ปชป.กระทุ้ง “พาณิชย์” คุมด่วน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ค้าภายใน” เร่งสนองใบสั่งดูแลราคาสินค้า ยอมรับตอนนี้พบสินค้าจำเป็นหลายชนิดราคาแพงเกินจริง “บุญทรง” เร่งให้เข้าไปแก้ไข ชี้ราคาอาหารสำเร็จรูปแพงทั้งที่ต้นทุนไม่ได้เพิ่มขึ้น ยันต้องเข้าไปควบคุมแน่ “อภิรักษ์” ชำแหละต้นทุนสินค้าพุงตามราคาน้ำมัน ระบุข้าวสาร น้ำตาล นม ยารักษาโรค ชักแถวขึ้นราคา พร้อมจี้ รบ.เข้าดูแลด่วน แนะใช้ 4 มาตรการบรรเทาความเดือดร้อน

นางวัชรี วิมุกตายน อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวถึงความคืบหน้าในการดูแลราคาสินค้า โดยยอมรับว่าขณะนี้นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้สั่งการให้กรมการค้าภายในเร่งออกมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชนแล้ว โดยเฉพาะเรื่องราคาอาหารสำเร็จรูป ซึ่งปัจจุบันได้รับการร้องเรียนจากผู้บริโภคเป็นจำนวนมากผ่านสายด่วน 1569 ว่าราคาอาหารสำเร็จรูปมีราคาแพง โดยปรับราคาขึ้นทั้งที่ต้นทุนด้านวัตถุดิบในการประกอบอาหารไม่ว่าจะเป็น เนื้อสัตว์ พืชผักต่างๆ ราคาไม่ขึ้น ซึ่งพื้นที่ที่ได้รับการร้องเรียนมากที่สุด คือ เขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และจังหวัดขนาดใหญ่ในภูมิภาคต่างๆ

ส่วนแนวทางหรือมาตรการแก้ไข คือ การเพิ่มจำนวนร้านอาหารธงฟ้า โดยขายอาหารในราคาจานละไม่เกิน 15-25 บาท ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเปิดตัวโครงการนี้ได้ในเร็วๆ นี้ ตลอดจนการขอความร่วมมือกับศูนย์อาหารในศูนย์ราชการ และร้านค้าทั่วไป ขายอาหารสำเร็จรูปในราคาไม่เกิน 25-30 บาท อีกทั้งจะขอความร่วมมือกับเจ้าของพื้นที่ในย่านธุรกิจ และศูนย์อาหารในห้างสรรพสินค้าให้จำหน่ายอาหารสำเร็จรูปราคาไม่เกิน 30-40 บาทเช่นกัน

“หลังจากเปิดตัวโครงการร้านอาหารธงฟ้าแล้ว คาดว่าอีก 1-2 สัปดาห์ กรมฯ ก็จะประกาศราคาแนะนำอาหารสำเร็จรูป และหากร้านค้าใดมีความจำเป็นต้องขายเกินราคาที่กำหนดก็จะต้องแจ้งเหตุผลเข้ามา หรือหากใครไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือถูกเอารัดเอาเปรียบก็ให้แจ้งผ่านสายด่วน 1569 ได้ทันที”

ทั้งนี้ จากโครงสร้างต้นทุนอาหารสำเร็จรูป เช่น ข้าวไข่เจียว ข้าวกะเพราหมู ถือว่าราคาอาหารแนะนำจะเป็นราคาที่สามารถทำได้จริง โดยจากโครงสร้างต้นทุนอาหารปรุงสำเร็จ 1 จานของร้านอาหารทั่วไป เมื่อแจกแจงเป็นต้นทุนวัตถุดิบ ได้แก่ ข้าว เนื้อสัตว์ ไข่ไก่ ผัก น้ำมันพืช เครื่องปรุงรส และต้นทุนค่าแรงงาน ค่าเช่าพื้นที่และอื่นๆ แล้วจะพบว่าข้าวไข่เจียว 1 จาน มีต้นทุนรวม 13.07 บาท หากขายปลีกราคาจานละ 20 บาท จะมีกำไรจานละ 6.93 บาท

ส่วนข้าวกะเพราหมู 1 จาน ต้นทุนรวม 20.53 บาท ขายปลีก 25 บาท ยังมีกำไร 4.47 บาท ข้าวกระเพราหมูไข่ดาว ต้นทุนจานละ 25.53 บาท ขายปลีก 30 บาท มีกำไรจานละ 4.47 บาท ส่วนข้าวไข่พะโล้ ต้นทุนจานละ 20.04 บาท ขายปลีก 25 บาท มีกำไร 4.96 บาท และก๋วยเตี๋ยวต้นทุนรวมแล้วชามละ 20.65 บาท ขายปลีกชามละ 25 บาท ยังมีกำไรอยู่อีก 4.35 บาท

อย่างไรก็ดี กระทรวงพาณิชย์ยังมีทางออกสำหรับกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าหากรายใดมีความเดือดร้อนให้สามารถเข้ามาหารือร่วมกันได้ว่าไม่ได้รับความ เป็นธรรมอย่างไร ซึ่งกรมฯ สามารถหาแนวทางช่วยเหลือ เช่น แนวทางการช่วยลดต้นทุนประกอบการ การจัดหาเชื่อมโยงวัตถุดิบในราคาต้นทุนต่ำ ตลอดจนเงินทุนในการดำเนินการ หรือหากสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ยาก ก็จะหาแนวทางให้ความช่วยเหลือต่อไปได้

“ปัจจุบันประชาชนได้รับการเดือนร้อนอย่างหนักอยู่แล้ว หลังจากประสบปัญหาวิกฤติน้ำท่วมช่วงปลายปีที่ผ่านมา เมื่อมาเจอกับราคาอาหารปรุงสำเร็จปรับขึ้นไปอีกถือเป็นการซ้ำเติมประชาชน ทั้งที่ต้นทุนการประกอบการก็ไม่ได้ปรับขึ้นเลย”

ด้าน นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะ รมว.พาณิชย์เงา แถลงผลการลงสำรวจสินค้าควบคุม 42 รายการ เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ว่าหลังจากที่รัฐบาลได้ประกาศปรับโครงสร้างราคาพลังงาน ปรากฏว่ามีราคาสินค้า 3 กลุ่มปรับราคาขึ้นสูงมาก ประกอบด้วย อาหารในภาชนะบรรจุปิดสนิท ผงซักฟอก กระเทียม ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง อาหารสัตว์ ส่วนกลุ่มปรับขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 5 เช่น ข้าวสาร ข้าวโพด น้ำตาลทราย นมผง นมสด แบตเตอรี่รถยนต์ ยารักษาโรค และกลุ่มที่ 3 ที่ราคายังไม่ปรับขึ้นมากคือครีมเทียม นมข้น

สำหรับราคาอาหารตามสั่ง ที่ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 35-40 บาท แต่ถ้าเพิ่มไข่ดาวต้องจ่ายเพิ่มอีก 7-10 บาท พบว่ารัฐบาลยังไม่มีมาตรการรองรับในการเข้าไปควบคุม

นายอภิรักษ์กล่าวเพิ่มเติ่มว่า เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ ที่ได้เชิญตัวแทนจากกระทรวงพาณิชย์ พลังงาน และกระทรวงคมนาคม ซึ่งได้รับข้อมูลว่าได้มีการปรับราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) กก.ละ 75 สตางค์, เอ็นจีวี 50 สตางค์ พบว่ารถยนต์ส่วนบุคคล 9 แสนกว่าคัน และรถรับจ้างอีกแสนคัน ได้รับผลกระทบหลังจากหมดเวลาการชดเชยราคาน้ำมันของรัฐบาลในอีก 4 เดือนข้างหน้าสะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลไม่ได้เตรียมความพร้อมและมีมาตรการลดผลกระทบ ทั้งนี้ เมื่อราคาพลังงาน เพิ่มขึ้นจะกระทบต้นทุนขนส่ง คาดว่าจะส่งผลกระทบให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 5

ดังนั้น ตนเองขอเสนอแนะรัฐบาลว่า 1. รัฐบาลต้องมีมาตรการเข้ามาควบคุมราคาสินค้าอย่างจริงจัง โดยเฉพาะหมวดสินค้าควบคุม 42 รายการต้องเข้าไปดูแล 2. รัฐบาลควรมีนโยบายที่ชัดเจนในการเข้าไปส่งเสริมและลดต้นทุนปัจจัยการผลิต 3. การปรับราคาพลังงานของรัฐบาลต้องมีความชัดเจนว่าจะมีมาตรการลดผลกระทบที่จะตามมาได้อย่างไร ทั้งระยะสั้น กลาง ยาว และ 4. รัฐต้องมีมาตรการช่วยลดต้นทุนขนส่งลอจิสติกส์
กำลังโหลดความคิดเห็น