ผู้เชี่ยวชาญน้ำมัน ชี้ กรณีอิหร่านปิดช่องแคบฮอร์มุซ ราคาน้ำมันโลกทะลุ 200 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลแน่ ขณะที่ราคาน้ำมันในประเทศสูงขึ้น จากปัจจัยรัฐเก็บภาษีสรรพสามิตดีเซล
นายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน กล่าวในงานสัมมนา “ถอดรหัสราคา เผยกลยุทธ์ลงทุนน้ำมัน 2012” จัดโดยบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) โดยมองว่า แนวโน้มราคาน้ำมันตลาดโลกปี 2555 เฉลี่ยจะอยู่ที่ระดับ 100-115 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หากไม่เกิดเหตุการณ์ผิดปกติ แต่หากเกิดเหตุการณ์อิหร่านปิดช่องแคบฮอร์มุซ จะทำให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นไปแตะ 200 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
“เชื่อว่า โอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวคงเป็นไปได้ยาก เพราะหากปิดช่องแคบดังกล่าวจะเป็นผลเสียกับอิหร่าน เพราะเป็นการทุบหม้อข้าวตัวเองไม่สามารถส่งออกน้ำมันได้ ขณะที่ปัญหาเศรษฐกิจโลกตกต่ำจากวิกฤติหนี้สินในยุโรปและสหรัฐฯจะมีผลให้ราคาน้ำมันตลาดโลกปรับลดลงอยู่ที่ประมาณ 75-80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งจะต้องจับตาเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศว่าจะสามารถแก้ปัญหาได้ในช่วงครึ่งปีแรกหรือไม่”
ส่วนราคาน้ำมันในประเทศปีนี้ เชื่อว่า จะปรับตัวสูงขึ้นจากการกลับมาเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลในอัตรา 5.30 บาทต่อลิตร ซึ่งต้องจับตาว่า รัฐบาลจะปรับขึ้นในครั้งเดียว หรือทยอยปรับขึ้น โดยมองว่า การจัดเก็บภาษีที่เหมาะสมควรเป็นช่วงหลังฤดูหนาว หรือปลายเดือนมีนาคม 2555 สำหรับการเก็บเงินจากน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์เข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อรักษาเสถียรภาพของกองทุนน้ำมันฯ นั้น จะต้องดูว่ารัฐบาลจะสามารถปรับโครงสร้างราคาเอ็นจีวีและแอลพีจีภาคขนส่งได้หรือไม่ หากปรับโครงสร้างและขึ้นราคาเอ็นจีวีและแอลพีจีได้ เชื่อว่าจะช่วยให้การเรียกเก็บเงินจากน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอลล์ในอัตราที่ลดลงไม่ถึง 7 บาทต่อลิตร
ด้าน นายสุรงค์ บูลกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไทยออยล์ ประเมินว่า ราคาน้ำมันดิบดูไบปีนี้จะเฉลี่ยอยู่ที่ 105-106 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งราคาไม่แตกต่างจากปีที่ผ่านมา แม้ปีนี้จะมีปัญหาเศรษฐกิจโลกและอิหร่าน โดยไทยออยล์ และกลุ่ม ปตท.ได้มีการจัดทำแผนบริหารความเสี่ยงเพื่อให้เกิดผลกระทบจากความผันผวนให้น้อยที่สุด
นอกจากนี้ กลุ่ม ปตท.ยังศึกษาถึงแผนการลงทุนร่วมกันในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะในประเทศพม่า อินโดนีเซีย และ กัมพูชา โดยไทยออยล์จะเป็นผู้ลงทุนด้านโรงกลั่นน้ำมัน ซึ่งการลงทุนร่วมกันทั้งกลุ่มจะดูตั้งแต่สายการผลิตปิโตรเลียมขั้นต้น โรงแยกก๊าซฯ โรงกลั่นน้ำมันและปิโตรเลียม ซึ่งการเข้าไปลงทุนจะเป็นลักษณะเดียวกับจีนที่เข้าไปลงทุนทั่วโลก พร้อมกับการเข้าไปช่วยเหลือประเทศนั้นๆ ในด้านต่างๆ เช่น การช่วยเหลือด้านสังคม และการศึกษา
สำหรับการลงทุนในพม่า เห็นว่าเป็นโอกาสการลงทุนที่ดี เพราะพม่าเริ่มมีการเปิดประเทศ ไม่ว่า สหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น ก็มีความสนใจจะเข้าไปลงทุนมากขึ้น นอกจากนี้ ไทยออยล์ยังสนใจจะเข้าไปขยายการลงทุนด้านการผลิตสารทำละลายในเวียดนาม แต่จะมีความเป็นไปได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับโอกาสและการศึกษาด้านการตลาดด้วย
ส่วนแผนการลงทุน 5 ปีของไทยออยล์ เบื้องต้นจะมีการลงทุนประมาณ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ใน 5 ปี หรือ 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี เช่น การลงทุนขยายท่าเรือรองรับการขนส่งผลิตภัณฑ์จาก 5,000 ตันต่อปี เป็น 50,000 ตันต่อปี ซึ่งการขยายท่าเรือจะเป็นการรองรับการส่งออกน้ำมันและปิโตรเคมี โดยเฉพาะการขยายการผลิตพาราไซลีนอีก 100,000 ตัน ซึ่งจะเริ่มผลิตภายในไตรมาส 3 ปีนี้ ทำให้ไทยออยล์จะมีกำลังผลิตพาราไซลีนเป็น 500,000 ตันต่อปี และการลงทุนโรงไฟฟ้าเอสพีพี จำนวน 2 โรง กำลังการผลิตโรงละ 120 เมกะวัตต์ จะขายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 90 เมกะวัตต์ ภายในปี 2557-2558 โดยจะใช้เงินลงทุน 10,000 ล้านบาท