xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus: จับตาปฏิบัติการคว่ำบาตรน้ำมัน “อิหร่าน” ดับฝันเป็นมหาอำนาจนิวเคลียร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ความขัดแย้งระหว่างอิหร่านกับโลกตะวันตกกลายเป็นประเด็นร้อนระอุรับปี 2012 เมื่อสหรัฐฯใช้แสนยานุภาพกดดันนานาประเทศให้ร่วมคว่ำบาตรการค้าน้ำมันกับเตหะราน หมายตัดท่อน้ำเลี้ยงโครงการนิวเคลียร์ซึ่งตะวันตกเชื่อว่า มีจุดประสงค์เพื่อลักลอบพัฒนาระเบิดปรมาณู

หลังจากความพยายามกดดันให้อิหร่านยุติโครงการนิวเคลียร์ตลอดหลายปีที่ผ่านมายังไม่เป็นผล อีกทั้งมีรายงานว่า อิหร่านเริ่มเสริมสมรรถนะยูเรเนียมเกรดอาวุธที่โรงงานใต้ดินแห่งใหม่ ซึ่งปลูกสร้างอยู่ในภูเขาลึกที่ยากแก่การระเบิดทำลาย ประธานาธิบดี บารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯจึงงัดไม้ตายประกาศยุทธศาสตร์เด็ดเมื่อวันสิ้นปีที่ผ่านมา โดยจะคว่ำบาตรสถาบันการเงินต่างชาติที่ทำธุรกรรมการเงินกับธนาคารกลางอิหร่าน ซึ่งเมื่อนโยบายนี้ถูกบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบ จะทำให้ประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลกไม่สามารถจ่ายเงินซื้อน้ำมันจากอิหร่านได้ ขณะที่สหภาพยุโรปก็เตรียมออกมาตรการ “ดัดหลัง” เตหะรานในลักษณะเดียวกัน

มาตรการขัดขวางการส่งออกน้ำมันก็เปรียบเสมือนทำลายหัวใจของเศรษฐกิจอิหร่าน ซึ่งที่ผ่านมาสามารถส่งออกน้ำมันได้ราว 2.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน และทำรายได้เข้าประเทศสูงถึง 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปีที่ผ่านมา เมื่อถูกสหรัฐฯ, ยุโรป และประเทศอื่นๆที่ไม่ต้องการโดนหางเลขรุมปฏิเสธการซื้อขาย ย่อมหมายถึงยอดส่งออกน้ำมันที่จะลดลงอย่างมหาศาล หรือถ้ามีผู้ยอมซื้อ อิหร่านก็อาจต้องยอมลดราคาลงอย่างมาก ซึ่งจะทำให้ประเทศตกอยู่ในภาวะขาดแคลนรายได้อย่างรุนแรง

เมื่อสหรัฐฯเริ่มเกาถูกที่คัน เตหะรานจึงนิ่งเฉยไม่ได้อีกต่อไป ออกมาขู่ปิดช่องแคบฮอร์มุซ (Hormuz Strait) ซึ่งจะทำให้การขนส่งน้ำมันจากอ่าวเปอร์เซียกลายเป็นอัมพาตทั้งระบบ และปริมาณน้ำมันดิบที่ส่งป้อนตลาดโลกจะหายไปราว 1 ใน 3 ซึ่งผู้บัญชาการกองทัพเรืออิหร่านคุยโวว่า การปิดช่องแคบนั้นง่ายดายไม่ต่างจากการ “ดื่มน้ำ”

ไม่เพียงเท่านั้น อิหร่านยังข่มขู่ประเทศเพื่อนบ้านมิให้เพิ่มการส่งออกน้ำมันเพื่อชดเชยสัดส่วนที่หายไปจากการคว่ำบาตรด้วย ทว่าผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่อย่างซาอุดีอาระเบียก็ออกมาประกาศเกือบจะทันทีว่า พร้อมเพิ่มกำลังการผลิตจากราว 10 ล้านบาร์เรลต่อวันเป็น 12 ล้านบาร์เรลเต็มสูบ โดยไม่ครั่นคร้ามกับคำขู่ของเตหะรานแต่อย่างใด

ปิดช่องแคบฮอร์มุซ ทางเลือกสุดท้ายของอิหร่าน

แม้ผู้บัญชาการกองทัพและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของอิหร่านจะใช้ถ้อยคำขึงขัง แต่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เชื่อว่า อิหร่านจะเลือกปิดช่องแคบฮอร์มุซเป็นทางออกสุดท้าย และอาจใช้วิธีขัดขวางหรือโจมตีเรือที่ผ่านเข้าออกแทนการปิดกั้นอย่างเต็มรูปแบบ

ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า ช่องแคบฮอร์มุซเป็นเสมือนประตูบ้านที่เปิดรับความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจสำหรับประเทศอ่าวเปอร์เซียทั้งหมดรวมถึงอิหร่าน ซึ่งต้องอาศัยเส้นทางเดินเรือนี้เพื่อส่งออกน้ำมันกว่า 2 ล้านบาร์เรลต่อวันไปยังประเทศคู่ค้า เช่น จีน และ อินเดีย และเนื่องจากรายได้กว่าร้อยละ 65 ของเตหะรานมาจากการส่งออกน้ำมัน จึงเป็นไปได้ยากที่อิหร่านจะเลือกอุดท่อหายใจของตนเอง หากไม่ถึงคราวจำเป็นอย่างที่สุด

อิหร่านยังอาศัยช่องแคบฮอร์มุซเป็นเส้นทางนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค การปิดช่องแคบจึงเท่ากับบั่นทอนเศรษฐกิจภายในประเทศที่กำลังเผชิญอัตราว่างงานสูงถึง 12.5 เปอร์เซ็นต์ และอาจจะพุ่งขึ้นถึง 20 เปอร์เซ็นต์ภายในปีนี้ตามที่คาดการณ์

การปิดช่องแคบฮอร์มุซยังจะสร้างบริบทให้สหรัฐฯเปิดฉากโจมตีอิหร่านได้อย่างสมเหตุสมผล ซึ่งการรบพุ่งในอ่าวเปอร์เซียก็นับว่าไม่ใช่สมรภูมิที่ได้เปรียบเอาเสียเลยสำหรับอิหร่าน และอาจทำให้เตหะรานต้องพังพินาศทั้งในด้านเศรษฐกิจและกองทัพ นักวิเคราะห์บางคนจึงมั่นใจว่า การปิดช่องแคบฮอร์มุซน่าจะเป็นเพียงเสียงขู่ลอยๆกองกำลังปฏิวัติอิหร่านมากกว่า หรือหากจะทำจริงก็คงปิดกั้นได้ไม่กี่วันเท่านั้น

“นี่อาจเป็นความพยายามสร้างแรงกดดันทางเศรษฐกิจ เพื่อให้ชาติตะวันตกขัดแย้งกันเองในเรื่องที่จะใช้มาตรการคว่ำบาตรกับอิหร่าน มากกว่าจะมีเจตนาใช้กำลังทหารเข้าสู้จริงๆ” เฮ็นรี วิลคินสัน หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์และข่าวกรองจากบริษัทที่ปรึกษาด้านความมั่นคง เจนูเซียน ในกรุงลอนดอนเผย

อิหร่านซึ่งทราบดีถึงอิทธิพลทางทหารของสหรัฐฯในตะวันออกกลาง ใช้กลยุทธ์ซึ่งผู้เชี่ยวชาญยุทธศาสตร์เรียกว่า “กลยุทธ์อสมมาตร” (asymmetric approach) เช่น การติดตั้งขีปนาวุธบนรถบรรทุกของพลเรือน ซึ่งสามารถนำไปจอดตามแนวชายฝั่งโดยไม่เป็นที่สังเกต การใช้เรือใบและเรือประมงของชาวบ้านเพื่อวางกับระเบิดในทะเล และการใช้เรือดำน้ำขนาดเล็กเพื่อลอบโจมตีศัตรูด้วยตอร์ปิโด รวมถึงวางกับระเบิดที่มีความสลับซับซ้อนมากกว่า เป็นต้น

ผู้สังเกตการณ์ยังเชื่อว่า อิหร่านได้จัดเตรียมหน่วยโจมตีแบบสายฟ้าแลบและกองเรือพลีชีพ ซึ่งได้แบบอย่างมาจากกบฎทมิฬอีแลมที่ใช้ยุทธวิธีเดียวกันนี้ต่อสู้กับรัฐบาลศรีลังกา ในสถานการณ์ขั้นเลวร้ายกองเรือเหล่านี้จะสามารถปฏิบัติการโดยอิสระเพื่อโจมตีเรือที่แล่นออกจากอ่าวเปอร์เซีย ซึ่งอาจสร้างความเสียหายแก่เรือบรรทุกน้ำมันอาหรับหรือแม้กระทั่งเรือรบของตะวันตก

กระนั้นก็ดี นักวิเคราะห์ยังคาดว่า ขั้นแรกอิหร่านน่าจะใช้เพียงการประกาศปิดช่องแคบ ยิงกระสุนเตือนไปยังเรือที่รุกล้ำเข้ามา หรือไม่ก็ข่มขู่ว่าวางกับระเบิดไว้ เพียงเท่านี้ก็จะทำให้เรือบรรทุกน้ำมันไม่กล้าเสี่ยงเดินเรือผ่านเข้าไป

สหรัฐฯและกองกำลังตะวันตกจะถูกบริษัทเดินเรือและผู้ใช้น้ำมันเร่งเร้าให้ส่งเรือรบและเรือกวาดทุ่นระเบิดเข้าไปเปิดช่องแคบโดยเร็วที่สุด ซึ่งจะเป็นการบีบให้อิหร่านต้องยิงตอบโต้ หรือไม่ก็ถูกเปิดโปงว่าที่ผ่านมาเป็นเพียงราคาคุยเท่านั้น

จากมุมมองของนักวิเคราะห์ดังที่กล่าวมา การปิดช่องแคบฮอร์มุซจึงอาจไม่ใช่หนทางที่จะทำให้อิหร่านได้เปรียบหรือเอาชนะแผนการคว่ำบาตรของตะวันตกได้ จึงเป็นที่น่าจับตามองต่อไปว่า เมื่อมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯและยุโรปถูกบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบในช่วงกลางปีนี้ เตหะรานจะหาทางรอดอย่างไร และครั้งนี้จะเป็นการลงดาบสุดท้ายของสหรัฐฯที่จะทำให้แผนการสู่ความเป็นมหาอำนาจนิวเคลียร์ของอิหร่านต้องพังทลายลงหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น