รมว.พลังงาน แจงการปรับราคาก๊าซ “เอ็นจีวี-แอลพีจี” ตามต้นทุนจริง ระบุ รัฐบาลคงไม่สามารถเข้าไปอุ้มได้ตลอดไป เพราะอาจเกิดผลกระทบต่อโครงสร้างพลังงาน
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวชี้แจงกระทู้ถามสดของวุฒิสมาชิกต่อนายกรัฐมนตรี กรณีการปรับโครงสร้างราคาพลังงานก๊าซธรรมชาติเอ็นจีวี และแอลพีจี โดยระบุว่า รัฐบาลไม่สามารถเข้าไปอุดหนุนราคาพลังงานได้ตลอดไปอย่างแน่นอน เพราะอนาคตจะเกิดผลกระทบต่อโครงสร้างพลังงานของประเทศ
“ปัจจุบันพบว่าประเทศไทยมีการนำเข้าพลังงานปีละ 1.2 ล้านล้านบาท และการกำหนดให้ราคาเอ็นจีวี อยู่ที่ 8.50 บาทต่อกิโลกรัม ไม่สามารถทำได้แล้ว เพราะราคาพลังงานในโลกได้ปรับเพิ่มขึ้นสูงมากตลอด 10 ปีที่ผ่านมา อย่างราคาน้ำมันเมื่อ 10 ปีแล้วที่เริ่มรณรงค์ใช้เอ็นจีวีอยู่ที่ 20-30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่มาตอนนี้ราคาน้ำมันอยู่ที่ 110 ดอลลาร์ต่อบาเรล เพิ่มขึ้นถึง 5 เท่าตัว แต่เอ็นจีวียัง 8.50 บาทอยู่ ถามว่าเหมาะสมหรือไม่ ประกอบกับในราคา 8.50 บาทมีถึง 2 บาทที่กองทุนน้ำมันจ่ายชดเชยให้อยู่ ซึ่งเงินที่เอามาอุดหนุนเอ็นจีวีก็มาจากเงินของผู้ใช้ดีเซล และเบนซิน”
นอกจากนี้ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ยังขาดทุนอยู่ 4-5 บาท โดยปีที่ผ่านมา ปตท.ขาดทุนรวม 2 หมื่นล้านบาท รวมตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา ขาดทุนสะสมถึง 4 หมื่นล้านบาท ถ้าเราขยายให้ใช้เอ็นจีวีเพิ่มขึ้นในราคาดังกล่าวจะขาดทุนเพิ่มขึ้นประเทศจะเดินหน้าไม่ได้ เราอยากให้เอ็นจีวีเป็นพลังงานหลัก แต่จะให้เอ็นจีวีขายขาดทุนตลอดคงทำไม่ได้ เพราะต่อไปคงจะขยายการให้บริการไม่ได้ ข้อเท็จจริงการปรับขึ้นราคาก๊าซเอ็นจีวีวันนี้ ยังทำให้ราคาถูกกว่าน้ำมันดีเซลครึ่งต่อครึ่ง
โดยในระยะสั้น นายพิชัย ยืนยันว่า รัฐบาลช่วยเหลือประชาชนจากการชะลอเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเพื่อให้ประชาชนสามารถอยู่ได้ในภาวะลำบาก แต่เมื่อมาถึงจุดหนึ่งเราต้องกลับมาเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาพลังงาน ในความเป็นจริงการอุดหนุนราคามันอยู่ไม่ได้ ประเทศไหนก็ไม่เวิร์ก ลองดูว่าการช่วยเหลือทำได้แค่ชั่วคราว ระยะยาวไม่สามารถดำเนินการได้
นายพิชัย กล่าวว่า ในอนาคตจะต้องมีการปรับขึ้นราคาแท็กซี่ เพราะมิเตอร์แท็กซี่ไม่ได้ขึ้นมาตั้งแต่ปี 2551 แล้วโดยจะพิจารณาหลังจากเมื่อมีการปรับราคาพลังงานและดัชนีเงินเฟ้อ และอยากให้ลองดูว่าการขึ้นแท็กซี่กับมอเตอร์ไซค์รับจ้างราคาไม่ต่างกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง