xs
xsm
sm
md
lg

“ปิยสวัสดิ์” แนะ “รบ.ปู” ปรับโครงสร้างพลังงาน หนุนลงทุน คาร์บอนเครดิต-ไบโอชีวภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปิยสวัสดิ์ อัมระนันท์
“ปิยสวัสดิ์” แนะ “รบ.ปู” เดินหน้านโยบายพลังงาน สอดคล้องทิศทางในตลาดโลก ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยส่งเสริมการลงทุนผลิต “ไบโอแก๊ส” เพื่อให้ไทยก้าวไปเป็นผู้ค้า “คาร์บอนเครดิต” โดยมีสายการบินที่จะเข้ายุโรปเป็นลูกค้า ขณะที่ “บินไทย” เตรียมนำร่องใช้น้ำมันไบโอชีวภาพ ทดลองเส้นทาง กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ นำร่อง ขณะที่ผู้ค้าน้ำมันกระทุ้งของความชัดเจนในการส่งเสริมแก๊สโซฮอล์

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานกรรมการมูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม แสดงปาฐกถาพิเศษ “การวางรากฐานพลังงานไทยเพื่ออนาคต” ในงานสัมมนาเรื่อง “เดินหน้าพลังงานสู่ทิศทางที่ยั่งยืน” ได้กล่าวถึงการกำหนดนโยบายราคาพลังงานในประเทศ โดยระบุว่า รัฐบาลควรจะดำเนินกลไกเพื่อให้ราคาสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ซึ่งเป็นไปตามที่สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (ไออีเอ) ได้แนะนำไว้ว่าควรจะมีการกำหนดราคาพลังงานที่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง

นอกจากนี้ ควรใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเน้นการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (ก๊าซเรือนกระจก) ที่กำลังเป็นปัญหาผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม เพราะในปัจจุบันหลายประเทศโดยเฉพาะในสหภาพยุโรป (EU) มีความเข้มงวด และได้กำหนดมาตรฐานผลกระทบสิ่งแวดล้อมในด้านต่างๆ

กรณีดังกล่าวได้ส่งผลให้การทำธุรกิจยากขึ้น และต้องใช้ต้นทุนสูงขึ้น อาทิ กรณีสายการบินต่างๆ ที่จะบินเข้าประเทศในยุโรปจะต้องถูกวัดมลพิษ หากไม่สามารถทำได้ตามมาตรฐานที่กำหนด ก็อาจจะต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อคาร์บอนเครดิตจากประเทศที่มีขาย เช่น จีน อินเดีย

นายปิยสวัสดิ์ ยังเป็นห่วงว่า การชดเชยราคาพลังงานประเภทต่างๆ แม้ว่าจะเป็นมาตรการระยะสั้นแล้วมีการปรับให้ราคาลอยตัวในภายหลัง แต่การเข้ามาแทรกแซงราคาในช่วงสั้น แล้วค่อยยกเลิกในภายหลังเป็นสิ่งที่ค่อนข้างลำบากมาก ส่วนการจะกู้เงินมาเพื่ออุดหนุนราคา ไม่ว่าจะใช้วิธีไหนประชาชนก็จะเป็นผู้จ่ายอยู่ดี และอาจจะต้องจ่ายเงินค่าน้ำมันมากขึ้น เพราะมีการใช้เพิ่มขึ้น ประกอบกับราคาน้ำมันในตลาดโลกก็มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ

พร้อมกันนี้ อยากเรียกร้องให้โครงการต่างๆ ในประเทศไทยที่เป็นโครงการด้านไบโอแก๊สที่สามารถขายคาร์บอนเครดิตได้ เร่งขออนุมัติใบอนุญาตจาก UNFCCC หรือหน่วยงานของสหประชาติที่มีหน้าที่พิจารณาใบอนุญาตเกี่ยวกับการขายคาร์บอนเครดิต

หากมีโครงการในประเทศที่ขายคาร์บอนเครดิตได้มากๆ ผู้ประกอบไทยที่ต้องการซื้อคาร์บอนเครดิต เช่น บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ก็จะเข้ามาซื้อคาร์บอนเครดิตในประเทศไทย แทนที่จะไปซื้อจากประเทศจีน หรืออินเดีย เพื่อให้การบินเข้าประเทศในสหภาพยุโรป สามารถดำเนินการต่อไปได้ โดยที่ไม่ต้องเสียค่าปรับ

นายปิยสวัสดิ์ ยังกล่าวในฐานะกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ การบินไทย โดยระบุว่า การบินไทยมีนโยบายจะนำน้ำมันเครื่องบินที่เป็นไบโอชีวภาพ หรือน้ำมันที่มีส่วนผสมของไบโอดีเซลให้มากขึ้น มานำร่องทดลองใช้กับเครื่องบินในเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2554 นี้ หากพบว่ามีต้นทุนที่สามารถแข่งขันได้ และคุ้มค่าต่อการลงทุน การบินไทยก็อาจจะใช้น้ำมันชนิดนี้ในเส้นทางการบินอื่นๆ เพิ่มเติมด้วย

อย่างไรก็ตาม น้ำมันชนิดนี้ยังไม่สามารถผลิตได้ภายในประเทศต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งการบินไทยได้เสนอให้ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ศึกษาเพื่อที่จะผลิตน้ำมันชนิดนี้ ซึ่งในแต่ละปีการบินไทยต้องใช้น้ำมันสำหรับเครื่องบินประมาณปีละ 3,000 ล้านลิตร และเป็นผู้ใช้น้ำมันรายใหญ่สุดของประเทศ หากทาง ปตท.ผลิตน้ำมันชนิดนี้ได้ การบินไทยก็จะเป็นผู้ใช้รายใหญ่

โดยในช่วงที่ผ่านมา โครงสร้างราคาพลังงานถูกมองว่าบิดเบือนมานาน ต้องใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาอุดหนุนราคาให้ผู้ใช้พลังงาน กลายเป็นภาระของประเทศ ซึ่งหากปล่อยไประยะยาวจะยิ่งทำให้เศรษฐกิจของประเทศอ่อนแอ และอาจไม่พร้อมรับมือกับการแข่งขันทางเศรษฐกิจในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในอีก 4 ปีข้างหน้า แต่การจะปรับโครงสร้างราคาพลังงานดังกล่าวได้จะต้องวางแผนอย่างเป็นขั้นตอน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ไม่กระทบต่อผู้มีรายได้น้อย และไม่เกิดความสับสน

นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน กล่าวถึงนโยบายการปรับโครงสร้างราคาพลังงานทั้งระบบ ว่า ในช่วงที่ผ่านมายังไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากราคาพลังงานในตลาดโลกมีความผันผวนมาก ประกอบกับโครงสร้างราคาพลังงานทุกชนิดของไทยได้ใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อชดเชยราคาแบบ Cross Over หรือข้ามกันไปมา เช่น นำเงินที่เก็บเข้ากองทุนน้ำมันฯ จากเบนซินไปอุดหนุนผู้ใช้ก๊าซหุงต้ม (LPG) จนเป็นเหตุให้กองทุนน้ำมันฯ ถูกวิจารณ์เรื่องการนำเงินไปใช้ผิดประเภท เกิดความไม่เป็นธรรมต่อผู้ใช้เบนซิน

ด้าน นางพิศวรรณ อัชนะพรกุล ประธานกรรมการ บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด กล่าวในหังข้อ "ความจริงเรื่องพลังงานปัญหาและทางออกของประเทศไทย" โดยยืนยันว่า ภาคเอกชนและกลุ่มเชลล์ พร้อมสนับสนุนแผนพลังงานทดแทน 15 ปี ของกระทรวงพลังงาน ที่ต้องการพึ่งพาแหล่งพลังงานในประเทศ ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ ที่ถือว่าสอดคล้องกับนโยบายลด ไบโอฟิวส์ ของเชลล์

ประธานกรรมการ เชลล์ ยอมรับว่า ปัจจุบันพลังงานทดแทน ได้รับผลกระทบจากนโยบายของภาครัฐ โดยเฉพาะแก๊สโซฮอล์ 95 ที่มีราคาเท่ากับ เบนซินออกเทน 91 ดังนั้น จึงอยากให้มีนโยบายที่ชัดเจนในการผลักดัน เพราะไม่อยากเห็น แก๊สโซฮอล์ หายไปจากตลาด เนื่องจากที่ผ่านมา รัฐบาลและผู้ประกอบการได้ลงทุนพลังงานทดแทนเป็นจำนวนมาก ซึ่งสุดท้ายแล้วจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกร
กำลังโหลดความคิดเห็น