“ปิยสวัสดิ์” ปลุกคนไทยร่วมหาทางออกพลังงานที่ยั่งยืน ตำหนินโยบายรัฐชักเข้า-ชักออก เป็นต้นเหตุทำลายความเชื่อมั่นเอกชน เตือนกฎเหล็กอียูกำลังบีบคั้นคนไทย ขณะที่นักวิชาการ ชี้ พืชคือทางออกประเทศไทยพ้นวิกฤตพลังงานขาดแคลน ด้าน “ซีอีโอหญิง” แห่งโซลาร์ฟาร์ม ชูพลังงานแสงอาทิตย์ดีที่สุดในอนาคต ทั้งสะอาด และไม่หมดจากโลก ปลื้มนำไทยสู่สุดยอดผู้นำอาเซียนด้านพลังงานแสงอาทิตย์
วันนี้ (28 ก.ย.) มูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม ได้จัดสัมมนาประจำปีเรื่อง “เดินหน้าพลังงานสู่ทิศทางที่ยั่งยืน” โดย ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานกรรมการมูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม กล่าวในปาฐกถาพิเศษเรื่อง “การวางรากฐานพลังงานไทยเพื่ออนาคต” ว่า การกำหนดนโยบายด้านพลังงานที่ถูกต้องควรมองในระยะยาว โดยต้องบริหารผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้เห็นตรงกัน ซึ่งความจริงโลกเราปฏิเสธโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ยากเมื่อยังมีความต้องการ ขณะที่ทั้งโลกมีเป้าหมายที่จะลดการใช้พลังงานลง อย่างไรก็ตามจากปัญหาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ญี่ปุ่นรั่วไหลจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ทำให้พลังงานนิวเคลียร์เป็นคำตอบที่ยากจะทำให้เป้าหมายบรรลุได้ สำหรับประเทศไทยยังคงพบกับปัญหาบทบาทระหว่างภาครัฐกับเอกชนที่ยังไม่ชัดเจนในเรื่องของการผูกขาดการแข่งขัน เนื่องจากในบางเรื่องรัฐผูกขาดตัวเอง อย่างเช่น การกำหนดราคาพลังงาน ซึ่งควรเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ขณะเดียวกันนโยบายของรัฐบาลไทยมีปัญหาในเรื่องของความชัดเจนว่าจะไปในทิศทางใด และยังส่งเสริมพลังงานทดแทนหรือไม่ หากรัฐบาลมีนโยบายที่ไม่แน่นอน ภาคเอกชนจะเกิดความไม่เชื่อมั่นและจะไม่ให้ความร่วมมือกับนโยบายรัฐ นอกจากนี้ประเทศเรากำลังจะต้องเผชิญกับปัญหาที่อียูกำหนดมาตรการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นต้นเหตุโลกร้อน ซึ่งบางอย่างไม่เป็นธรรมต่อเรา แต่ก็ไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ ดังนั้นเราควรร่วมกันหาทางออกการใช้พลังงานที่ยั่งยืนต่อไป
จากนั้นได้มีการเสวนาในหัวข้อเรื่อง “ความจริงเรื่องพลังงาน ปัญหาและทางออกของประเทศไทย” โดยมีตัวแทนจากกระทรวงพลังงาน นักวิชาการ และหน่วยงานจากภาคเอกชน โดยมองว่า ปัจจุบันการทำแผนพลังงานยังคงขาดความเป็นธรรมาภิบาลของระบบ โดยพลังงานนิวเคลียร์แม้ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีแต่มีความเสี่ยงสูง และปัจจุบันประเทศทั่วโลกเริ่มให้การปฏิเสธ หากประเทศไทยมีการจัดระบบไม่ดีจะไม่สามารถรับมือได้ พร้อมกันนี้ยังเห็นว่าประเทศไทยมีศักยภาพด้านพืชพลังงาน อาทิ ปาล์ม สาหร่าย ฯลฯ ซึ่งสามารถนำมาพัฒนาเป็นพลังงานทดแทนได้อย่างยั่งยืน เป็นทางออกที่ดีสำหรับประเทศไทยในการต่อสู้การขาดแคลนพลังงาน ดังนั้นเราต้องเตรียมระบบการบริหารการจัดการตั้งรับให้ดีเป็นระบบ เพื่อประเทศไทยได้มีพลังงานใช้อย่างยั่งยืน
ด้าน น.ส.วันดี กุญชรยาคง กรรมการผู้จัดการ บริษัท โซล่า เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงประสบการณ์การพัฒนาโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ว่า ได้ริเริ่มทำโครงการโซล่าฟาร์มในปี 2552 หลังจากออกจากธุรกิจไปร่วม 2 ปี โดยเริ่มต้นมีความยากลำบากในการพัฒนาโครงการ ทั้งเรื่องหาผู้ร่วมทุนและหาแหล่งเงินกู้ แม้แต่เพื่อนสนิทก็ยังไม่มีใครเข้ามาร่วมทุน เพราะเป็นโครงการใหม่ซึ่งหลายคนยังไม่มีความเชื่อมั่นว่าจะเกิดได้จริง อย่างไรก็ตาม มูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อมได้เข้ามาเป็นผู้ร่วมลงทุนรายแรกให้กับบริษัท และทางเวิลด์แบงก์รวมถึงธนาคารกสิกร ได้เข้ามาเป็นพาร์ทเนอร์ และผู้ร่วมลงทุนหลักในลำดับต่อมา จนทำให้บริษัทเกิดความเชื่อมั่นและมีเงินทุนในการพัฒนาโซลาร์ฟาร์มจนมาถึงปัจจุบัน โดยบริษัทมีแผนโครงการที่ได้เซ็นสัญญากับรัฐแล้วทั้งหมด 34 โครงการ มูลค่าเต็มโครงการ 24,000 ล้านบาท โดยได้รับแอดเนอร์จากรัฐในราคา 8 บาท ในระยะเวลา 10 ปี ซึ่งไฟฟ้าทั้งหมดได้เซ็นสัญญาขายตรงให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคทั้งหมด 34 โครงการ ขณะนี้ได้ดำเนินการขายให้ไปแล้ว 5 โครงการ และมีแผนที่จะระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์อีกจำนวน 60 ล้านหุ้นในปลายปีนี้ ทั้งนี้โซล่าฟาร์มสร้างงานให้กับชนบทถึง 500 คนต่อโครงการในช่วงทำโครงการและสร้างงานอย่างยั่งยืน
น.ส.วันดี กล่าวด้วยว่า บริษัทยังมีแผนที่จะทำธุรกิจหลักด้านอื่นอีก คือ โครงสร้างหลังคาเหล็กซึ่งเป็นธุรกิจเดิมและธุรกิจทั่วไป นอกจากนี้ เราได้สร้างศูนย์เรียนรู้ให้กับเยาวชนเพื่อให้รู้ว่าโซลาร์ฟาร์มเป็นพลังงานที่สะอาด ไม่มีเสียงรบกวน ไม่มีของเสียตกค้าง ซึ่งเป็นทางเลือกพลังงานที่ดีที่สุดในอนาคต นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวยังนำคาร์บอนเครดิตไปขายได้อีกด้วย ท้ายสุดนี้ น.ส.วันดี กล่าวว่า มีความภาคภูมิใจเป็นอย่างมากที่ได้เป็นผู้บุกเบิก และเป็นผู้นำในการพัฒนาโซลาร์ฟาร์มที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ และในภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งทำให้ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านการพัฒนาใช้พลังงานแสงอาทิตย์ทุกรูปแบบ