xs
xsm
sm
md
lg

ดัชนีความเชื่อมั่นเดือน ส.ค.หัวทิ่ม น้ำท่วม-ศก.ผันผวน เซ็งนโยบายรัฐขี้โม้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ส.ค.หัวทิ่มในรอบ 4 เดือน หลังน้ำท่วม เศรษฐกิจโลกผันผวน และคนไม่มั่นใจนโยบายรัฐบาลที่โม้ไว้เยอะแต่ทำไม่ได้ แนะรัฐบาลอัดฉีดกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังหลายประเทศเริ่มมีปัญหาวิกฤต อาจฉุดภาคส่งออกและท่องเที่ยวไทย หอการค้าไทยยันเดินหน้าต้านคอร์รัปชันต่อไป ล่าสุด มี 30 องค์กรเข้าร่วม

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนส.ค.2554 ว่า ดัชนีปรับลดลงครั้งแรกในรอบ 4 เดือน นับตั้งแต่เดือน เม.ย.2554 โดยดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 73.8 ลดจากเดือน ก.ค.2554 ที่ 74.4 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานอยู่ที่ 74.4 ลดจาก 742.9 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 102.1 ลดจาก 102.8 ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอยู่ที่ 83.4 ลดจากเดือนก.ค.2554 ที่ 84.1 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบัน 65.0 ลดจาก 65.4 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคตอยู่ที่ 89.6 ลดจาก 90.2

ปัจจัยลบที่ทำให้ความเชื่อมั่นในเดือน ส.ค.2554 ลดลง อันดับแรกมาจากการเกิดอุทกภัยและน้ำท่วมในหลายพื้นที่ จนสร้างความเสียหายต่อพื้นที่เพาะปลูกการเกษตร และส่งผลต่อโอกาสการหารายได้ลดลง ปัจจัยรองลงมา มาจากความกังวลเกี่ยวกับความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ปัญหาหนี้สาธารณะในสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป จนกระทบให้ตลาดหุ้นไทยลดลง รวมถึงกระทบต่อการส่งออก และการท่องเที่ยวไทยในอนาคต ขณะเดียวกันภาคประชาชนเริ่มไม่มั่นใจในการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล

ส่วนปัจจัยบวกมาจากนโยบายการลดราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินลิตรละ 7.67-7.92 บาท และน้ำมันดีเซลลงลิตรละ 3 บาท ทำให้ประชาชนมีกำลังการใช้จ่ายเพิ่ม อีกทั้งยังมีความหวังจากนโยบายลดค่าครองชีพและเพิ่มรายได้กับประชาชนของรัฐบาล

“การปรับตัวขึ้นของความเชื่อมั่นในช่วงก่อนหน้านี้ มาจากความคาดหวังจากนโยบายหาเสียงเลือกตั้งของรัฐบาล แต่สาเหตุที่ความเชื่อมั่นเดือนนี้ลดลง ยังไม่มีปัจจัยเด่นชัดนัก ต้องตีความและจับตาดู แต่เชื่อว่า สาเหตุหลักน่าจะมาจากปัญหาน้ำท่วม เนื่องจากพื้นที่ภาคกลาง อีสาน และเหนือ ที่ทำให้ความเชื่อมั่นลดลงมาก ส่วนความเชื่อมั่นในอนาคต ยังไม่ชัดเจนนัก
และจะมีการประเมินอีกครั้งในปลายเดือนนี้” นายธนวรรธน์ กล่าว

ทั้งนี้ แม้ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจจะลดลง แต่ความเชื่อมั่นด้านสังคมเกี่ยวกับปัญหาค่าครองชีพ การแก้ปัญหาคอร์รัปชัน การแก้ปัญหายาเสพติด ตลอดความมีเสถียรภาพทางการเมือง ปรับตัวไปในทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สำหรับความเหมาะสมเกี่ยวกับการซื้อรถยนต์คันใหม่ ซื้อบ้านหลังใหม่ ท่องเที่ยว และลงทุนทำธุรกิจเอสเอ็มอี ผู้บริโภคเห็นว่ามีความเหมาะสมลดลง เนื่องจากจะชะลอการตัดสินใจซื้อจนกว่าจะมีความแน่ชัดจากนโยบายของรัฐบาล

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ทิศทางเศรษฐกิจประเทศจากนี้ไป จะขึ้นอยู่กับแรงขับเคลื่อนของนโยบายรัฐบาลเป็นสำคัญ ซึ่งหากแก้ปัญหาน้ำท่วม และเยียวยาผู้ประสบภัยได้รวดเร็ว รวมถึงมีการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจออกมาได้อย่างเป็นรูปธรรม จะทำให้ประชาชนเกิดความมั่นใจต่อการจับจ่ายใช้สอย และทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ถึง 4-4.5% แต่ถ้าปัญหาเศรษฐกิจโลกลุกลามรุนแรงอาจทำให้ภาคการส่งออก ท่องเที่ยว และจีดีพีของประเทศได้รับผลกระทบ จะทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวเหลือเพียง 3.5-4%

ทั้งนี้ ทั่วโลกมีการประเมินว่าโอกาสที่เศรษฐกิจโลกจะเผชิญความถดถอยสูงถึง 50% โดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจ 7 ประเทศ เช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น เยอรมนี อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี มีโอกาสที่เศรษฐกิจจะเติบโตในระดับ 0% ซึ่งกระทบต่อการท่องเที่ยว และส่งออก ดังนั้น การขับเคลื่อนจากรัฐบาลจะเป็นส่วนสำคัญในการค้ำยันเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการตั้งงบประมาณขาดดุลปี 2555 เพิ่มจาก 3.5 แสนล้านบาท เป็น 4 แสนล้านบาท จะมีส่วนช่วยให้จีดีพีขยายตัวเพิ่มได้อีก 0.3-0.5%

นายวิชัย อัศรัสกร กรรมการเลขาธิการหอการค้าไทย กล่าวว่า สำหรับงานในนามของภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชัน หอการค้าไทยยังคงสานงานและเดินหน้าต่อไป แม้นายดุสิต นนทะนาคร ซึ่งถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของโครงการนี้จะไม่อยู่แล้วก็ตาม แต่เชื่อว่า งานดังกล่าวจะไม่สะดุดลง เพราะทีมงานเบื้องหลังยังคงอยู่ โดยล่าสุด มีองค์กรที่อยู่ในภาคีเพิ่มขึ้นเป็น 30 องค์กรจากเดิม 24 องค์กร และจะมีการประกาศเจตนารมณ์ของภาคีเครือข่ายว่าจะมีการเดินหน้าในด้านกิจกรรมต่อต้านคอร์รัปชันอย่างไรต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น