xs
xsm
sm
md
lg

คาด “จีดีพี” ครึ่งปีหลังโตกระฉูด 6% ดัชนีความเชื่อมั่นฟื้นต่อเนื่อง 2 เดือนซ้อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ม.หอการค้า คาดแนวโน้ม ศก.ครึ่งปีหลัง “จีดีพี” โตกระฉูด 6% ระบุ นโยบาย รบ.ใหม่ มีส่วนสำคัญในการสร้างความมั่นใจ ทั้งประชาชนและนักลงทุน พร้อมประเมินทั้งปี เติบโตได้ 4.4% ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวขึ้นทุกรายการ ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 สะท้อนบรรยากาศโดยรวมที่ดีขึ้น “ธนวรรธน์” ชี้ ผู้บริโภคยังมีความมั่นใจต่อสถานการณ์ในอนาคต เพราะมีความหวังว่ารัฐบาลใหม่จะมีนโยบายเศรษฐกิจที่สามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจให้กลับมาขยายตัวดีขึ้น

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงภาพรวมเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง โดยคาดการณ์ว่า การบริโภคในประเทศจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงไตรมาส 3/2554 และการบริโภคจะมีความคึกคักมากขึ้นในช่วงไตรมาส 4/2554 ซึ่งทางมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เชื่อว่า นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ มีส่วนสำคัญในการสร้างความมั่นใจต่อทั้งประชาชนและนักลงทุน

ทั้งนี้ เชื่อว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่เข้าใกล้ระดับ 100 จะทำให้การบริโภคเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ ทำให้มีโอกาสมากขึ้นที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี) จะเติบโตได้ 4-5% ตามที่เคยประเมินไว้ หรือมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยที่ประมาณ 4.4% ขณะที่ครึ่งปีหลังคาดว่าจีดีพีจะเติบโต 6% แต่จำเป็นต้องรอดูนโยบายของพรรคเพื่อไทยก่อน โดยเฉพาะนโยบายทางด้านเศรษฐกิจว่าจะช่วยผลักดันให้มีการเติบโตได้มากน้อยเพียงใด

สำหรับเหตุผลความเป็นไปได้ที่ทำให้มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เชื่อว่า จีดีพีปีนี้จะอยู่ที่ 4-5% มาจากยอดการส่งออกในช่วงครึ่งปีแรกเติบโตในระดับ 25% ตัวเลขนักท่องเที่ยวในช่วงครึ่งปีแรกประมาณ 9 ล้านคน ยอดการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ในช่วงครึ่งแรก เติบโตสูงถึง 12-14%

“ทั้งหมดนี้เป็นพื้นฐานที่ทำให้คนไทยมีเงินออมมากขึ้น และมีความพร้อมในการจับจ่ายใช้สอย ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรยังอยู่ในระดับที่ดี จึงเชื่อว่าจีดีพีในช่วงครึ่งปีหลังจะโต 6% ส่วนทั้งปีคาดว่าจะโตในระดับ 4-5%”

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวมเดือนมิถุนายน 2554 อยู่ที่ระดับ 72.3 จากเดิมที่ระดับ 71.1 ในเดือนพฤษภาคม 2554 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ อยู่ที่ 72.9 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 99.8

ดัชนีความเชื่อมั่นทั้ง 3 ตัวปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2554 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือนที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคทุกรายการปรับตัวดีขึ้น

สำหรับปัจจัยบวก ได้แก่ การเลือกตั้งส่งผลทางจิตวิทยาในเชิงบวกต่อความหวังจากรัฐบาลใหม่ที่จะมีแนวนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศปรับตัวลดลง ราคาพืชผลทางการเกษตรยังอยู่ในระดับสูง การส่งออกยังขยายตัวสูง เงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อย

ขณะที่ปัจจัยลบ คือ ผู้บริโภคยังกังวลปัญหาค่าครองชีพ กังวลความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ผู้บริโภคยังมีความกังวลสถานการณ์ทางการเมืองหลังการเลือกตั้งว่าจะมีเสถียรภาพมากน้อยแค่ไหน

“เหตุผลที่ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนมิถุนายน 2554 ทุกรายการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 เนื่องจากประชาชนมีความหวังว่าหลังการเลือกตั้งแล้วรัฐบาลใหม่จะมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจให้ปรับตัวดีขึ้นได้ ประกอบกับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวลดลง”

นอกจากนี้ เงินสะพัดในช่วงการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งมีส่วนทำให้ความเชื่อมั่นเกี่ยวกับสถานการณ์ในปัจจุบันปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2554

อย่างไรก็ดี การที่ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคยังต่ำกว่าระดับ 100 โดยการวิเคราะห์ตามปรกติแล้วเป็นเพราะผู้บริโภคยังไม่มั่นใจในสถานการณ์ต่างๆ เช่น ราคาน้ำมัน ความไม่แน่นอนทางการเมือง ปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ แต่ทั้งนี้ ยังเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในระยะยาวอยู่

นายธนวรรธน์ กล่าวเสริมว่า สำหรับการประเมินทิศทางโดยรอบด้านแล้ว เชื่อมั่นว่า ผู้บริโภคยังมีความมั่นใจต่อสถานการณ์ในอนาคต เพราะมีความหวังว่ารัฐบาลใหม่จะมีนโยบายเศรษฐกิจที่สามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจให้กลับมาขยายตัวดีขึ้น ซึ่งจะทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นมากขึ้นและกลับมาบริโภคมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง

“ผลจากการเลือกตั้งครั้งนี้ คนเริ่มมีความผ่อนคลายมากขึ้น ว่า การเมืองจะมีเสถียรภาพ ทำให้มีความหวังต่อรายได้ในอนาคต และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตเข้าใกล้ระดับ 100 ซึ่งถ้าการเมืองนิ่ง และนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ดี การบริโภคก็จะเพิ่มมากขึ้นและเป็นกำลังช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมากขึ้น การลงทุนจะขยายตัวตาม ถือว่าเศรษฐกิจไทยมีภูมิคุ้มกันที่ดีท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจโลก” นายธนวรรธน์ กล่าวสรุป
กำลังโหลดความคิดเห็น